Abstract:
ยุคเศรษฐกิจถดถอย โรงพิมพ์กรณีศึกษาเก็บสถิติห้วง มกราคม 2563-มีนาคม 2564 พบว่า ผู้ประกอบการเสียโอกาสการรับงานพิมพ์ฉลากปิดข้างขวด จำนวน 53.75 ล้านชิ้น คิดเป็นสูญเสียกำไรจำนวน 2.15 ล้านบาท สาเหตุจากความล่าช้าฝ่ายผลิต ดังนั้นจึงต้องหาวิธีลดระยะเวลาการผลิตงานพิมพ์ฉลาก โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการลดระยะเวลาแห้งตัวของงานพิมพ์ฉลาก โดยการเก็บข้อมูลเวลาการทำงานทุกขั้นตอนและพบว่าขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุด คือการรอแห้งตัวงานพิมพ์ฉลากใช้เวลา 72 ชั่วโมง จากทั้งหมด 156 ชั่วโมงหรือเท่ากับ 44% เมื่อทราบถึงปัญหาจึงจัดตั้งคณะทำงานจำนวน 8 คน ที่ปฏิบัติงานในแผนกผลิตโรงพิมพ์กรณีศึกษา เพื่อระดมสมอง (Brainstorming) และหาปัจจัยที่จะส่งผลต่อการแห้งตัวของงานพิมพ์ฉลากโดยใช้แผนภูมิก้างปลา (Fish bone) แบ่งปัจจัย คือ คน (Man) เครื่องจักร (Machine) กระบวนการทำงาน (Method) วัตถุ (Material) และสิ่งแวดล้อม (Environment) คณะทำงานพบ 15 ปัจจัย ที่คาดว่าส่งผลต่อการแห้งตัวของงานพิมพ์ฉลาก และนำปัจจัยทั้งหมดให้คะแนนความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล (Cause & Effect Matrix) โดยอ้างอิงจากงานวิจัยและทฤษฎีต่างๆ โดยใช้กฎพาเรโต (Pareto) กฎ 80/20 และเรียงลำดับคะแนนความสำคัญได้ 6 ปัจจัยคือ 1. ปริมาณของเม็ดสีในหมึกพิมพ์ 2. ปริมาณการปล่อยสารเคลือบ 3. ปริมาณการปล่อยหมึกพิมพ์ 4. อุณหภูมิห้องปิด 5. ปริมาณสารเร่งแห้งในหมึก 6. ปริมาณสารเร่งแห้งในสารเคลือบ และเลือกการทดลองแบบฮาฟแฟคทอเรียล (Half-Factorial Design) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการแห้งตัว คือ 1) ปริมาณสารเคลือบ 2) ปริมาณสารเร่งแห้งในหมึก 3) ปริมาณสารเร่งแห้งในสารเคลือบ และทดลองหาระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ฉลากแห้งเร็วที่สุดโดยไม่มีปัญหาด้านคุณภาพ ผลลัพธ์ก็คือ ระดับปริมาณสารเคลือบ 22% สารเร่งแห้งในหมึก 3.4% และปริมาณสารเร่งแห้งในสารเคลือบ 3.2% และทดสอบเพื่อยืนยันผลการทดลองโดยอ้างอิงระดับปัจจัยการจากทดลองพบว่าระยะเวลาแห้งตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 30.6 ชั่วโมง จากเดิม 72 ชั่วโมง เวลาในการแห้งตัวลดลง 41.4 ชั่วโมง คิดเป็น 57% ของเวลาในการแห้งตัว ส่งผลทำให้สามารถรับลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มกำไรให้แก่โรงพิมพ์กรณีศึกษาหลังจากการปรับปรุงกระบวนการ คิดเป็น 2,376,000 บาท/ปี