Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความยากจนของผู้สูงอายุไทยและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 และศึกษาความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผลการศึกษาเปรียบเทียบความยากจนของผู้สูงอายุไทยระหว่างปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 พบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุไทยที่ยากจนลดลงจากร้อยละ 39.0 ในปี พ.ศ.2560 เป็นร้อยละ 34.1 ในปี พ.ศ.2564 โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของผู้สูงอายุไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 ประกอบด้วย อายุ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส เขตที่อยู่อาศัย สถานภาพการทำงาน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และรูปแบบการอยู่อาศัย และพบว่าแต่ละปัจจัยมีความสัมพันธ์กับความยากจนของผู้สูงอายุไทยในทิศทางเดียวกันทั้งในปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 ในขณะที่ปัจจัยด้านเพศและการพึ่งพิงรวมมีความสัมพันธ์กับความยากจนของผู้สูงอายุไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในปี พ.ศ.2560 เท่านั้น และผลการศึกษาเปรียบเทียบความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยระหว่างปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 พบว่าสัดส่วนครัวเรือนผู้สูงอายุไทยที่ยากจนลดลงจากร้อยละ 11.5 ในปี พ.ศ.2560 เป็นร้อยละ 8.5 ในปี พ.ศ.2564 โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 ประกอบด้วย อายุหัวหน้าครัวเรือน จำนวนสมาชิกครัวเรือน การพึ่งพิงรวม ระดับการศึกษา และเขตที่อยู่อาศัย และพบว่าแต่ละปัจจัยมีความสัมพันธ์กับความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยในทิศทางเดียวกันทั้งในปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 ยกเว้นอายุของหัวหน้าครัวเรือนที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยในทิศทางตรงข้ามกันระหว่างปี พ.ศ.2560 และปี พ.ศ.2564 ในขณะที่ปัจจัยด้านสถานภาพสมรสของหัวหน้าครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับความยากจนของครัวเรือนผู้สูงอายุไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในปี พ.ศ.2560 เท่านั้น