Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง พัฒนาการของการแสดงในงานพระนครคีรี เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการแสดงในงานพระนครคีรี โดยมีขอบเขตของการศึกษาในครั้งนี้คือ พัฒนาการของการแสดงในงานพระนครคีรี ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 34 (ปี พ.ศ. 2529-2563) โดยศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า การแสดงในงานพระนครคีรีมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยยังยึดการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรีเป็นหลัก รูปแบบของการแสดงที่พบในงานพระนครคีรี คือ 1) โขน 2) ละคร 3) รำ 4) ระบำ 5) การแสดงพื้นบ้าน 6) การแสดงสร้างสรรค์ 7) การแสดงดนตรี 8) มหรสพต่าง ๆ โดยการแสดงจะปรากฏอยู่ในจุดต่าง ๆ ภายในงานพระนครคีรี ซึ่งผู้วิจัยจำแนกพัฒนาการของศิลปะการแสดงออกเป็น 3 ช่วง โดยแบ่งจากหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการจัดการแสดงและรูปแบบการแสดงที่ถูกปรับเปลี่ยนไปในแต่ละปี คือ ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2529-2548 ยุคทดลอง ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2549-2557 ยุคพัฒนา ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2558-2563 ยุคปัจจุบัน ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ถือเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดเพชรบุรี รวมไปถึงยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อไป