Abstract:
งานวิจัยการออกแบบเรขศิลป์เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์สำหรับนิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.) เพื่อหาแนวทางการออกแบบเรขศิลป์เพื่อการสื่อสารอัตลักษณ์สำหรับนิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรม 2.) เพื่อหาแนวทางการนำอัตลักษณ์รูปแบบกระบวนการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมมาใช้ในงานออกแบบเรขศิลป์ และ 3.) เพื่อสร้างสรรค์ต้นแบบการออกแบบเรขศิลป์เพื่อการสื่อสารอัตลักษณ์นิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่ศึกษา นิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม(Mixed Methods Research) ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ร่วมกับการออกแบบทางศิลปกรรม โดยใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลแบบการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวัฒนธรรมงานหัตถกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญางานหัตถกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเรขศิลป์และเรขศิลป์เคลื่อนไหว และการประเมินความพึงพอใจของต้นแบบผ่านแบบสอบถามออนไลน์จากกลุ่มเป้าหมายทางการออกแบบ
ในด้านการออกแบบเรขศิลป์พบว่า การศึกษาองค์ความรู้และแนวทางการนำอัตลักษณ์ของงานหัตถกรรมทั้งในด้านอัตลักษณ์และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารผ่านงานออกแบบเรขศิลป์นั้นยังขาดรูปแบบมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการนำอัตลักษณ์งานหัตถกรรมมาใช้ ทำให้รูปแบบงานออกแบบเรขศิลป์สำหรับนิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรมมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน มีการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา และไม่สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวได้ จึงนำมาสู่คำถามงานวิจัยคือแนวทางการออกแบบเรขศิลป์เพื่อการสื่อสารอัตลักษณ์สำหรับนิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรม จากอัตลักษณ์และรูปแบบการเคลื่อนไหวภายใต้กระบวนการการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมสำหรับนิเวศวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรมควรเป็นอย่างไร ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่าอัตลักษณ์งานหัตถกรรมแต่ละประเภทสามารถสื่อสารผ่านองค์ประกอบทางการออกแบบเรขศิลป์ และสามารถนำผลคำตอบมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างสรรค์สื่อด้านการออกแบบสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ โดยหากนำอัตลักษณ์เด่นของแต่ละพื้นที่นิเวศวัฒนธรรมตามองค์ประกอบทางการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Placemaking) คือ ทรัพยากรทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องราวของชุมชน จะทำให้การออกแบบเรขศิลป์เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์งานหัตถกรรมสามารถสร้างความแตกต่างและนำเสนออัตลักษณ์ของพื้นที่นิเวศวัฒนธรรมเฉพาะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น