Abstract:
วิทยานิพนธ์หัวข้อ การแสดงพระราชทานประกอบบทขับร้องพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการออกแบบการแสดงพระราชทานประกอบบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2565 ผู้วิจัยใช้กระบวนการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร งานวิจัย และสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนร่วมในงาน ตลอดจนสังเกตการณ์ และร่วมแสดงในงานดังกล่าว ผู้วิจัยพบว่าการแสดงงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การบรรเลงวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และการบรรเลงดนตรีไทยวงสายใยจามจุรี ประกอบบทพระราชนิพนธ์ การแสดงประกอบบทพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2565 มีทั้งหมด 12 ชุดการแสดง โดยในปี พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2565 ภาควิชานาฏยศิลป์ ได้รับมอบหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการออกแบบ และจัดการแสดงประกอบบทพระราชนิพนธ์ รวมทั้งสิ้น 5 ชุดการแสดง การแสดงประกอบบทพระราชนิพนธ์ ให้ความบันเทิง และแฝงข้อคิดเตือนใจผู้ชมให้นำไปปฏิบัติตนได้อย่างทันสมัยตลอดเวลา พระองค์ท่านโปรดให้ใส่สำเนียงเพลงออกภาษา ในการประพันธ์ดนตรี และทรงพระราชทาน พระราชวินิจฉัย ตลอดการแสดง แนวดนตรีเน้นการประพันธ์เพลง ร่วมสมัย ผสมผสานเพลงไทยเดิมของโบราณกับประพันธ์ขึ้นใหม่ ร่วมกับวงดนตรีสากล ซียูแบรนด์ การแสดงประกอบบทพระราชนิพนธ์ ตีความตามบท และเลือกนำเสนอในฉากที่มีเนื้อหาโดดเด่น มีทั้งการแสดงทั้งเรื่อง ได้แก่ นเรนทราทิตย์ : วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม การแสดงบางช่วง ได้แก่ เพลงภาษาพาสนุก และรูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ การแสดงระบำตอนท้าย ได้แก่ เที่ยวไปในแดนชวา การออกแบบท่ารำประกอบการแสดง มีทั้งรำใช้บท และสร้างสรรค์ท่าทางขึ้นใหม่ โดยทุกขั้นตอนการสร้างงานอยู่ในพระราชวินิจฉัย และการกำกับของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยตลอด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีพระเมตตาพระราชทานบทพระราชนิพนธ์ และการแสดงประกอบ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพอันสูงยากที่จะเปรียบได้ การแสดงประกอบบทพระราชนิพนธ์นับว่ามีคุณค่าทางด้านวิชาการ การดำเนินชีวิต และสามารถนำข้อคิดไปพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา อย่างไม่ล้าสมัย