Abstract:
การพัฒนาทางด้านกายภาพของเด็กส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการออกแบบสร้างสรรค์รูปแบบเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กด้วยนวัตกรรมการออกแบบที่สามารถขยายได้ ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ใช้แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นเองจากกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 71 คน ข้อมูลการแต่งกายของกลุ่มผู้บริโภคด้วยเทคนิค Paper doll data set เพื่อเก็บรวมรวมข้อมูลรูปภาพและวิเคราะห์องค์ประกอบการแต่งกายที่ใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์ ทดลองสร้างเทคนิค รายละเอียดตกแต่งภายใต้แนวคิดการออกแบบที่สามารถขยายได้ จากการศึกษาพบว่าในการออกแบบคอลเลกชันเครื่องแต่งกายกลุ่มอัลฟ่าเจเนอเรชันต้องคำนึงถึงรูปแบบการแต่งกายและความต้องการของกลุ่มมิลเลนเนียลส์เจเนอเรชัน ผู้ที่มีอิทธิพลในการเลือกซื้อเครื่องแต่งกายให้กับกลุ่มอัลฟ่าเจเนอเรชัน โดยมีองค์ประกอบการตัดสินใจซื้อคือรูปแบบของการออกแบบดังนี้ 1) รูปแบบเครื่องแต่งกาย นิยมรูปแบบเรียบง่าย หรือแบบมินิมอล และรูปแบบสตรีท 2) รูปแบบโครงร่างเงาของเครื่องแต่งกาย นิยมรูปแบบทรงตรง หรือ I-Line และรูปแบบทรงเอ หรือ A-Line 3) รูปแบบสีของเครื่องแต่งกาย นิยมสีพาสเทล และสีสดใส 4) รูปแบบของการออกแบบเครื่องแต่งกายด้านการใช้สอยที่ได้รับความสนใจคือรูปแบบการปรับขยายตามสัดส่วนของร่างกาย รูปแบบการปรับเปลี่ยนได้ และรูปแบบการถอดประกอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมการออกแบบที่สามารถขยายได้ตามสัดส่วนของร่างกาย จากการทดลองสร้างสรรค์เทคนิครายละเอียดตกแต่งพบว่าการถัก ด้วยรูปแบบ Accordion Pleat มีการยืด หด ขยายได้ดีที่สุด ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุ Eco Vero ที่ไม่ผสมกับวัสดุอื่นในการถัก ส่งผลให้มีผิวสัมผัสที่นิ่ม นุ่ม น้ำหนักเบา เนื้อผ้ามีความเย็นสบาย อีกทั้งขนาดเส้นด้ายที่เล็กและไม่ฟูเป็นขุยง่าย เหมาะสมกับการนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กที่สามารถขยายได้