Abstract:
วิทยานิพนธ์ หัวข้อ รำโจ๋ง ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของการละเล่นรำโจ๋ง และศึกษากระบวนท่ารำ องค์ประกอบของการละเล่นรำโจ๋ง ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้วิจัยใช้กระบวนการวิจัย จากการศึกษาข้อมูลเอกสารงานวิจัย การสัมภาษณ์ และการลงพื้นที่สังเกตการณ์การแสดง ผลการวิจัยพบว่า รำโจ๋ง มีพัฒนาการมาจากรำโทน ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายธวัช ธูปมงคล ได้นำการละเล่นรำโจ๋ง เข้ามาแสดงในหมู่บ้าน เป็นที่นิยมสืบต่อกันมา แสดงในเทศกาลวันสงกรานต์ ประมาณปี พ.ศ. 2562 คุณกาญจนา ทองมา ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลกาญจนา ได้นำการละเล่นรำโจ๋ง เป็นหลักสูตรการอบรมให้กับนักเรียน และปี พ.ศ. 2564 ถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมอำเภอวิเชียรบุรีได้จัดสรรงบประมาณ โครงการอบรมการแสดงรำโจ๋งให้กับตัวแทนนักเรียนใน ระดับอนุบาลถึงชั้น ประถมศึกษา ในเขตอำเภอท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เรียนรู้และสืบทอดการแสดง จากผู้เชี่ยวชาญการแสดงรำโจ๋งให้อยู่สืบต่อ ลักษณะการรำโจ๋ง แบ่งผู้รำเป็น สองฝ่าย ฝ่ายชาย สมมุติเป็นวัว รำอยู่วงใน ฝ่ายหญิง เป็นผู้ต้อนวัว รำอยู่วงนอก รำเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา ท่ารำ คล้ายกับการต้อนวัวเข้าคอก ประกอบการตีโทน เป็นจังหวะ การแต่งกายผู้แสดงชายสวมเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบน ผ้าขาวม้าคาดเอว ผู้แสดงหญิงสวมเสื้อแขนยาว ห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน การละเล่นพื้นบ้านรำโจ๋ง ปัจจุบันมีการถ่ายทอด และสืบทอดท่ารำ เป็นหลักสูตรในโรงเรียน เพื่ออนุรักษ์ให้การแสดงท้องถิ่น ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้คงองค์ความรู้สืบทอดต่อไป