Abstract:
“ทรัพย์อิงสิทธิ” ถูกสร้างและรับรองขึ้นโดยพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 โดยมีหลักการสำคัญคือ เป็นสิทธิที่ให้บุคคลหนึ่งสามารถใช้สอยประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นได้เสมือนตนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถนำสิทธิดังกล่าวไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้
ตามมาตรา 703 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรัพย์สินที่จำนองได้แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนที่กฎหมายกำหนดให้จำนองได้ ซึ่งคำว่า “อสังหาริมทรัพย์” ตามมาตรา 139 นอกจากจะหมายถึงที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น ยังหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินนั้นด้วย แต่ในทางปฏิบัติทรัพย์สินที่นำมาจำนองเป็นการทั่วไปมักอยู่ในรูปแบบของวัตถุซึ่งมีรูปร่างทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่า “ทรัพย์อิงสิทธิ” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้จริงหรือไม่ หากจำนองได้จะมีรูปแบบและวิธีการในการจำนองอย่างไร และจะนำกฎหมายว่าด้วยเรื่องจำนองมาปรับใช้กับทรัพย์อิงสิทธิอย่างไร นอกจากนี้จะมีประเด็นปัญหาใดๆ ในทางกฎหมายเกี่ยวกับการจำนองทรัพย์อิงสิทธิหรือไม่อย่างไร
จากการศึกษาพบว่าทรัพย์อิงสิทธิยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเนื้อหาแห่งสิทธิ สถานะทางกฎหมาย และการกำหนดมูลค่า อาจทำให้มีปัญหาในการนำไปจำนองตามกฎหมาย จึงเสนอแนะว่าหน่วยงานผู้ร่างกฎหมายควรจัดทำคำอธิบายหลักเกณฑ์และวิธีการจำนองทรัพย์อิงสิทธิ รวมถึงแนวทางการนำบทบัญญัติว่าด้วยการจำนองมาปรับใช้กับทรัพย์อิงสิทธิ นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังเสนอให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิในบางมาตราอีกด้วย