Abstract:
การศึกษาในห้องปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการคืนแร่ธาตุในรอยผุระยะเริ่มต้นของชิ้นฟันที่สัมผัสกับวัสดุบูรณะคลาสทูด้วยนาโนคอมโพสิตแคลเซียมฟอสเฟต (Predicta™ bioactive bulk) กับซีเมนต์กลาสส์ไอโอโนเมอร์ (Equia Forte®) และเรซินคอมโพสิตชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์ (Filtek™ Z350) เป็นกลุ่มควบคุม โดยใช้ชิ้นฟันน้ำนมจำนวน 60 ชิ้นจากด้านแก้มของฟันกรามน้ำนมที่ถูกถอน 60 ซี่มาสร้างรอยผุระยะเริ่มต้นที่กึ่งกลางของชิ้นฟัน นำชิ้นฟันตัวอย่างมาวัดร้อยละการสูญเสียฟลูออเรสเซนต์ (∆F) เริ่มต้นด้วยเครื่องวัดฟลูออเรสเซนต์ที่เกิดจากแสงเชิงปริมาณชนิดดิจิทัล เรียงลำดับร้อยละการสูญเสียฟลูออเรสเซนต์เริ่มต้นจากชิ้นฟันที่สูญเสียแร่ธาตุน้อยไปมาก สุ่มชิ้นฟันออกเป็น 3 กลุ่ม นำชิ้นฟันไปติดกับบล็อกอะคริลิกที่บูรณะด้านประชิดด้วยวัสดุบูรณะทั้ง 3 ชนิด แล้วเข้ากระบวนการเลียนแบบสภาวะในช่องปากเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นวิเคราะห์ปริมาณการคืนแร่ธาตุโดยวัสดุบูรณะแต่ละชนิด ด้วยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงร้อยละของการสูญเสียฟลูออเรสเซนต์ (∆∆F) และค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงปริมาตรการสูญเสียฟลูออเรสเซนต์ (∆∆Q) ผลการศึกษาพบว่าทั้งค่า ∆∆F และค่า ∆∆Q ของทุกกลุ่มมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มซีเมนต์กลาสส์ไอโอโนเมอร์ มีการคืนแร่ธาตุแก่ชิ้นฟันสูงที่สุด ส่วนกลุ่มนาโนคอมโพสิตแคลเซียมฟอสเฟตมีการสูญเสียแร่ธาตุของชิ้นฟันเล็กน้อย ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มควบคุม คือเรซินคอมโพสิตชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่าการบูรณะด้วยวัสดุซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ สามารถคืนแร่ธาตุให้ฟันซี่ข้างเคียงได้ดีที่สุด แต่ในกรณีที่รอยผุหรือโพรงฟันคลาสทูมีขนาดใหญ่ นาโนคอมโพสิตแคลเซียมฟอสเฟตก็ถือเป็นวัสดุหนึ่งที่เป็นทางเลือกในการใช้ทดแทนเรซินคอมโพสิตชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์ เนื่องจากใช้งานง่าย มีความแข็งแรงและความสวยงามเทียบเท่ากับเรซินคอมโพสิต นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการลุกลามของรอยผุระยะเริ่มต้นในฟันซี่ข้างเคียงได้ดีกว่าเรซินคอมโพสิตชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์