Abstract:
ที่มาและวัตถุประสงค์: การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเป็นหัตถการที่ก่อให้เกิดฝอยละอองฟุ้งกระจายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคทางเดินหายใจชนิดต่าง ๆ รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อบุคคลากรทางการแพทย์ การศึกษานี้ต้องการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้กล่องอะคริลิคครอบศีรษะของผู้ป่วยต่อการลดการฟุ้งกระจายของฝอยละอองระหว่างส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนชนิดเพื่อการวินิจฉัย
ระเบียบวิธีการวิจัย: การศึกษาควบคุมแบบสุ่มในผู้ป่วยที่รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนชนิดเพื่อการวินิจฉัยระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2564 ผู้ป่วยได้รับการสุ่มให้อยู่ในกลุ่มที่มีกล่องครอบศีรษะ (กลุ่มศึกษา) หรือกลุ่มที่ไม่กล่องครอบศีรษะ (กลุ่มควบคุม) วัดปริมาณฝอยละอองด้วยเครื่องวัดปริมาณอนุภาคฝอยละอองที่ติดตั้งที่ตำแหน่งวิสัญญีพยาบาลและแพทย์ผู้ส่องกล้องอย่างต่อเนื่องระหว่างทำหัตถการ ศึกษาค่าเฉลี่ยของความแตกต่างของปริมาณฝอยละอองน้ำลายระหว่างการทำหัตถการและก่อนการทำหัตถการเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่มีและไม่มีกล่องครอบศีรษะ และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝอยละอองน้ำลาย รวมทั้งความปลอดภัยของการใช้กล่องครอบศีรษะระหว่างการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
ผลการวิจัย: จากผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา 196 คน ผู้ป่วย 190 คนได้รับการวิเคราะห์ ข้อมูลพื้นฐานประชากรไม่แตกต่างกันระหว่างสองกลุ่ม ค่าเฉลี่ยระยะห่างระหว่างใบหน้าแพทย์ผู้ส่องกล้องกับปากผู้ป่วย 67.2±4.9 เซนติเมตร ค่าเฉลี่ยของความแตกต่างของปริมาณฝอยละอองน้ำลายขนาด 0.3, 0.5 และ 1.0 ไมโครเมตรระหว่างทำเทียบกับก่อนทำหัตถการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนชนิดเพื่อการวินิจฉัยที่ตำแหน่งวิสัญญีพยาบาล และ ฝอยละอองน้ำลายขนาด 0.3 ไมโครเมตรที่ตำแหน่งแพทย์ผู้ส่องกล้อง พบว่ามีค่าลดลงในกลุ่มที่มีกล่องครอบศีรษะ และเพิ่มขึ้นในกลุ่มควบคุม (P<0.001, 0.001, 0.014 และ <0.001 ตามลำดับ) การไอ การเรอ และการเคลื่อนไหวของร่างกายของผู้ป่วยระหว่างรับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนทำให้ฝอยละอองน้ำลายเพิ่มขึ้น ไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการกลุ่มที่มีกล่องครอบศีรษะ
สรุปผล: การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนชนิดเพื่อการวินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีกล่องครอบศีรษะมีความปลอดภัย และสามารถลดการฟุ้งกระจายของฝอยละอองน้ำลายสู่บุคคลากรทั้งวิสัญญีพยาบาลและแพทย์ผู้ส่องกล้อง