Abstract:
อาชีพพนักงานทำความสะอาดเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงสารเคมีจากการทำงาน พนักงานทำความสะอาดมีการสัมผัสสารที่ใช้ในขั้นตอนการทำความสะอาดที่หลายชนิดก่อให้เกิดโรคหืดได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของอาการโรคหืดในกลุ่มพนักงานทำความสะอาด ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการทำงาน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และข้อมูลเกี่ยวกับอาการทางระบบการหายใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์อาการโรคหืดและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยใช้สถิติ Multiple logistic regression
ผลการศึกษาพบว่า มีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 340 คน ความชุกของอาการโรคหืดในพนักงานทำความสะอาดเท่ากับร้อยละ 16.2 (95%CI: 12.4-20.5) และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของอาการโรคหืด พบว่าผู้ที่มีคนในบ้านสูบบุหรี่มีอัตราส่วนแต้มต่อของการมีอาการโรคหืดเป็น 4.13 เท่า (OR 4.13, 95%CI: 2.12-8.02) ของผู้ที่ไม่มีคนในบ้านสูบบุหรี่ ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ทางจมูกมีอัตราส่วนแต้มต่อของการมีอาการโรคหืดเป็น 4.08 เท่า (OR 4.08, 95%CI: 2.00-8.30) ของผู้ที่ไม่มีอาการภูมิแพ้ทางจมูก ผู้ที่มีเชื้อราในบ้านมีอัตราส่วนแต้มต่อของการมีอาการโรคหืดเป็น 2.40 เท่า (OR 2.40, 95CI: 1.11-5.16) ของผู้ที่ไม่มีเชื้อราในบ้าน ผู้ที่สูบบุหรี่มีอัตราส่วนแต้มต่อของการมีอาการโรคหืดเป็น 2.77 เท่า (OR 2.77, 95%CI: 1.29-5.96) ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องครัวมีอัตราส่วนแต้มต่อของการมีอาการโรคหืดเป็น 2.18 เท่า (OR 2.18, 95%CI: 1.10-4.31) ของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในห้องครัว
สรุปผลการศึกษา พนักงานทำความสะอาดมีแนวโน้มที่จะมีอาการโรคหืดมากกว่าประชากรทั่วไป สถานประกอบการควรจัดให้มีแนวทางการจัดการสุขภาพที่เหมาะสม เช่น การเฝ้าระวังสุขภาพกับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง การอบรมให้ความรู้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การเลิกบุหรี่ การจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสม เป็นต้น