Abstract:
การส่องกล้องทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) เป็นหัตถการมาตรฐานสำหรับการตรวจประเมินและรักษาโรคของท่อน้ำดีและตับอ่อน นิยมจัดท่าผู้ป่วยในท่านอนคว่ำ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจำเป็นต้องหมุนศีรษะไปทางด้านขวา 80 องศาตลอดระยะเวลาทำหัตถการ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดคอหลังทำการส่องกล้องได้ และในปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับช่วยจัดท่าผู้ป่วยเพื่อลดอาการปวดคอ ในงานการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุบัติการณ์การปวดคอของผู้ป่วยหลังเข้ารับการส่องกล้องท่อน้ำดีและตับอ่อน และประเมินความพึงพอใจของแพทย์ผู้ส่องกล้อง โดยสุ่มผู้ป่วยทั้งหมด 250 ราย แบ่งเป็นกลุ่มใช้หมอนรองหน้าอก 125 ราย และกลุ่มควบคุม 125 ราย หมอนที่ถูกออกแบบตามหลักการยศาสตร์ช่วยทำให้เกิดการหมุนของกระดูกสันหลังส่วนอก เพื่อชดเชยการทำงานของกระดูกสันหลังส่วนคอ ผู้วิจัยเข้าประเมินอาการปวดคอของผู้ป่วยก่อนการทำ ERCP, หลังการทำ ERCP 1 ชั่วโมง, 1 วัน และ 7 วัน โดยใช้ Visual analog scale (0-10) รวมถึงความยากในการสอดกล้องและความพึงพอใจของแพทย์โดยใช้แบบประเมินคะแนน 0-10 ผลการศึกษาพบว่าอุบัติการณ์อาการปวดคอหลังการทำ ERCP 1 วัน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม โดยในกลุ่มใช้หมอนพบร้อยละ 19.2 และในกลุ่มควบคุมพบร้อยละ 30.4 (p = 0.041) อาการปวดคอระดับปานกลางถึงรุนแรงในกลุ่มควบคุมสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.032) ความยากในการสอดกล้องและความต้องการในการยกไหล่ของผู้ป่วยขณะทำหัตถการลดลงในกลุ่มใช้หมอน (p = 0.001 และ p = 0.002 ตามลำดับ) แม้ว่าการประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยระหว่างสองกลุ่มจะไม่มีความแตกต่างกัน (p = 0.082) อย่างไรก็ตามคะแนนความพึงพอใจของแพทย์ผู้ส่องกล้องในกลุ่มใช้หมอนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001)