Abstract:
ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการวิจัย: ภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลเป็นภาวะที่เกิดตามกระบวนการเสื่อมตามวัย ซึ่งเกิดจากการที่มีแคลเซียมและไขมันมาสะสมที่บริเวณดังกล่าวจนกลายเป็นหินปูน การมีหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลมีความสัมพันธ์ในการเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจไมตรัลทั้งชนิดรั่วและตีบ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยและการประเมินความรุนแรงของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัล แต่มักใช้การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจภาพสองมิติและการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการวินิจฉัย เนื่องจากพยาธิสรีรวิทยาและความเสี่ยงในการเกิดของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลและลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมีความคล้ายกัน จึงทำการศึกษาหาความชุกของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลในผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบระดับรุนแรง ความสัมพันธ์ของการตรวจด้วยวิธีต่างๆในการวินิจฉัยและแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัล รวมไปถึงความสัมพันธ์ของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลกับการเกิดโรคลิ้นหัวใจไมตรัลทั้งชนิดตีบหรือรั่ว
วิธีการดำเนินวิจัย: การศึกษานี้ทำในผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบระดับรุนแรงที่เข้ารับการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ พฤษภาคม 2556 ถึง ธันวาคม 2564 โดยหากไม่มีภาพจากการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจภาพสองมิติและการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดในระบบของโรงพยาบาลจะไม่ได้เข้าร่วมในการศึกษา ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยได้จากเวชระเบียน วินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลจาก 3 วิธี โดยใช้เกณฑ์การแบ่งระดับความรุนแรงแบบเป็นระบบที่ดัดแปลงมาจากวิธีการที่คิดขึ้นโดยเมโยคลินิกและคลีฟแลนด์คลินิก การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบโดยใช้แนวทางการวินิจฉัยจากชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาปี 2552 และ วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วโดยใช้แนวทางการวินิจฉัยจากชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาปี 2560 มีการประเมินหาความเที่ยงของผู้ประเมินทั้งในกรณีคนเดียวกันและผู้ประเมินต่างคนกันร่วมด้วย ผลการศึกษาหลักคือเพื่อศึกษาความชุกของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลแบบรุนแรงในผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการวินิจฉัยภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลโดยใช้การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจภาพสองมิติ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยวิธีประเมินปริมาณหินปูนรอบวง และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยการวัดคะแนนแคลเซียม รวมไปถึงศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลตีบหรือลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วในผู้ป่วยที่มีภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัล
ผลการศึกษา: จากผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบระดับรุนแรงที่เข้ารับการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดที่ศึกษาทั้งสิ้น 188 คน มีอายุเฉลี่ย 81±8 ปี พบว่ามีภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลแบบรุนแรง 47 คน (25%) และมีอายุเฉลี่ย 83±8 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (63%) ในกลุ่มภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลแบบรุนแรงพบว่ามีโรคลิ้นหัวใจตีบระดับรุนแรง 4.26% ระดับปานกลาง 19.15% ระดับน้อย 55.32% และมีโรคลิ้นหัวใจรั่วระดับรุนแรง 2.13% ระดับปานกลาง 19.15% ระดับน้อย 72.34% นอกจากนี้ยังความชุกของโรคลิ้นหัวใจตีบระดับปานกลางและรุนแรงพบในกลุ่มที่มีภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่พบหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัล (p < 0.001) แต่ไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าวในโรคลิ้นหัวใจรั่วระดับปานกลางและรุนแรง (p = 0.484) จากการศึกษาพบว่าการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลมีความสอดคล้องกันในแต่ละวิธี โดยเปรียบเทียบผลการวินิจฉัยของการตรวจจากคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจภาพสองมิติกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Spearman’s rho 0.9114), การตรวจจากคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจภาพสองมิติกับคะแนนแคลเซียม (Spearman’s rho 0.8979) และการตรวจจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์กับคะแนนแคลเซียม (Spearman’s rho 0.989) นอกจากนี้เมื่อทดสอบความสอดคล้องกันของผลการวินิจฉัยจากทั้ง 3 วิธีพบว่ามีความสอดคล้องกันดี (Kappa 0.7245)
สรุปผล: หนึ่งในสี่ของผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบระดับรุนแรงที่เข้ารับการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดพบว่ามีภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลแบบรุนแรงร่วมด้วย โดยในผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่ามีโรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบระดับปานกลางถึงรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การวินิจฉัยระดับความรุนแรงของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัลจากการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจภาพสองมิติ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยวิธีประเมินปริมาณหินปูนรอบวง และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยการวัดคะแนนแคลเซียมพบว่ามีความสอดคล้องกันดี จากการศึกษานี้จึงแนะนำว่าสามารถใช้วิธีการใดก็ได้จาก 3 วิธีที่กล่าวมาในการวินิจฉัยและแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะหินปูนเกาะที่ขอบลิ้นหัวใจไมตรัล