Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเลือกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผลตอบแทนในตลาดแรงงาน และทุนทางสังคมของชาวมุสลิมจังหวัดปัตตานี ดำเนินการวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลปฐมภูมิแบบ Quota/Convenience sampling โดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นจากวรรณกรรมปริทัศน์ เกณฑ์การคัดเข้า ได้แก่ เป็นคนไทยมุสลิม อายุ 25-49 ปี และจบระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเท่ากับ 483 ตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้แบบจำลองสมการถดถอย โดยพิจารณาปัญหา Endogeneity งานวิจัยนี้แบ่งประเภทของโรงเรียนออกเป็นโรงเรียนสามัญศึกษา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันศึกษาปอเนาะ ผลการศึกษา พบว่า (1) เพศหญิง การสื่อสารภาษาไทยในบ้าน คุณลักษณะของพ่อแม่ และการอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมีผลต่อการเลือกโรงเรียน (2) ก่อนการพิจารณาปัญหา Endogeneity พบว่า ประเภทโรงเรียนมีผลต่อการเรียนต่อหลังจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและรายได้ต่อเดือน และ (3) เมื่อพิจารณาปัญหา Endogeneity พบว่า ประเภทโรงเรียนส่งผลต่อการเรียนต่อหลังในระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ส่งผลทางตรงต่อผลตอบแทนในตลาดแรงงาน ทว่าการจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่งผลทางบวกต่อผลตอบแทนในตลาดแรงงาน (4) ในด้านทุนทางสังคม พบว่า ก่อนการพิจารณาปัญหา Endogeneity สถาบันศึกษาปอเนาะส่งผลทางลบต่อการได้รับสนับสนุนทางทรัพยากรและทางอารมณ์ แต่ภายหลังพิจารณาปัญหา Endogeneity พบว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันศึกษาปอเนาะกลับส่งผลทางบวกต่อการได้รับสนับสนุนทางทรัพยากรและทางอารมณ์ ทั้งนี้ ตัวแปรการจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่งผลทางบวกต่อทุนทางสังคมเสมอ ผลการศึกษาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าประเภทโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะไม่ได้ส่งผลทางตรงต่อผลตอบแทนในตลาดแรงงานและส่งผลอย่างไม่ชัดเจนต่อทุนทางสังคม แต่ประเภทโรงเรียนกลับส่งผลทางอ้อมต่อทั้งผลตอบแทนในตลาดแรงงานและทุนทางสังคม ผ่านการสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา