Abstract:
การศึกษา เรื่อง “ภาพตัวแทนและความเป็นจริงของแม่บ้านในละครโทรทัศน์ไทย” มีจุดประสงค์เพื่อ ศึกษาภาพตัวแทนและความเป็นจริงของแม่บ้านในละครโทรทัศน์ไทย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างละครโทรทัศน์ทั้งหมด 7 เรื่อง คือ เพลิงนาง ปมเสน่หา เพลิงปริศนา เขยบ้านไร่ สะใภ้ไฮโซ สะใภ้ไร้ศักดินา เรยา ฉันชื่อบุษบา นำมาเปรียบเทียบกับชีวิตจริงของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพแม่บ้านที่ทำงานอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และใช้ชีวิตพักอาศัยอยู่ในบ้านนายจ้าง ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จำนวน 7 คน และ ศึกษาปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคมที่มีผลต่อภาพตัวแทนของแม่บ้านในละครโทรทัศน์ไทย
ผลการศึกษาพบว่า ตัวบทสร้างภาพตัวแทนของแม่บ้านในละครโทรทัศน์ไทย ให้มีภาพแทนของแม่บ้านที่เป็นผู้สนับสนุนนายจ้าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นจริงของชีวิตแม่บ้าน พบว่า แม่บ้านในชีวิตจริงมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานให้นายจ้าง แม่บ้านในละครโทรทัศน์กับชีวิตจริงของแม่บ้าน มีความแตกต่างในด้านลักษณะทางประชากรศาสตร์ สวัสดิการ การได้รับความเท่าเทียม การแต่งกาย และมีความคล้ายคลึงในส่วนของปัจจัยทางสังคมด้านเศรษกิจและด้านการศึกษา ในส่วนของปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคมมีผลต่อภาพตัวแทนของแม่บ้านในละครโทรทัศน์ไทย มีดังนี้ 1) ด้านปิตาธิปไตย ละครโทรทัศน์สะท้อนให้เห็นถึงชุดความคิดของคนในสังคมที่ว่า“งานบ้าน เป็นงานของเพศหญิง” ในละครโทรทัศน์ไม่มีตัวละครพ่อบ้านปรากฏให้เห็นแบบปกติทั่วไปเหมือนตัวละครแม่บ้าน หากมีตัวละครที่มีลักษณะและบทบาทใกล้เคียง ก็มักถูกเรียกต่างออกไปไม่ถูกเรียกว่า “พ่อบ้าน” และมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงอย่างชัดเจน เช่น คนสวน คนขับรถ 2) ด้านชนชั้น ภาพตัวละครแม่บ้านถูกจัดวางอยู่ในชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) ซึ่งอยู่ในระดับชนชั้นต่ำของสังคมไทย 3) ด้านระบบทุนนิยม ภาพตัวละครแม่บ้านในละครโทรทัศน์ถูกภาวะเศรษฐกิจทุนนิยมที่ตรึงเครียดกดทับ ด้วยความยากจนที่บีบคั้น แม่บ้านจึงกลายเป็นผู้ที่ยอมรับกับความขัดแย้งและความเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติของนายจ้าง-ลูกจ้าง ยินยอมอยู่ในความสัมพันธ์แบบการขูดรีดเพื่อรายได้ในการเลี้ยงชีพ กล่าวคือ ภาพแม่บ้านในละครโทรทัศน์ถูกกดขี่ด้านการไม่ให้แสดงความคิดเห็น ไม่มีขอบเขตของงานบ้านและไม่มีเวลาการทำงานที่ชัดเจน ลักษณะงานของแม่บ้านทำลายเส้นแบ่งระหว่างเวลาและสถานที่ของการทำงาน (Work) กับเวลา และสถานที่ของการใช้ชีวิต เพราะผลผลิตของการผลิตอยู่ในรูปของอวัตถุ (Immaterial) ไม่ใช่การผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุ (Material) ทำให้แยกงานกับชีวิตออกจากกันไม่ได้ และการใส่เครื่องแบบชุดแม่บ้านชาวตะวันตก สามารถทำให้คนในสังคมรับรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไรในสถานที่ที่พวกเขาทำงานอยู่ นำมาซึ่งการเกิดสัญญะของภาพตัวแทน 4) ด้านระบบการศึกษา ภาพแม่บ้านในละครโทรทัศน์เป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาที่ไม่สูง 5) ด้านสิทธิแรงงาน ภาพแม่บ้านในละครโทรทัศน์ไม่ถูกนำเสนอเรื่องสวัสดิการที่ชัดเจน แต่ถูกนำเสนอทางอ้อมว่า ไม่มีวันหยุด และมีชั่วโมงทำงานที่ไม่แน่นอน 6) ด้านระบบสื่อมวลชนผลิตซ้ำภาพตัวแทน ลักษณะการสร้างภาพตัวละครในละครโทรทัศน์ (Portrayed) เป็นสิ่งที่สะท้อนจากผู้ผลิตรายการที่คาดว่าคนกลุ่มนั้นควรจะมีลักษณะอย่างไรในละครโทรทัศน์ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำภาพตัวแทนของตัวละครที่นำเสนอในลักษณะเหมารวม เช่น แม่บ้านเป็นผู้ที่มีฐานะต่ำต้อย เป็นคนอีสาน เป็นผู้ไร้อำนาจ ต้องแสดงความนอบน้อม ถ่อมตน มักขาดอิสระทางความคิด ต้องเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น