Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) พฤติกรรมการแบ่งปันเนื้อหาลูกบนสื่อสังคมออนไลน์ของพ่อแม่คนไทย 2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแบ่งปันเนื้อหาลูกบนสื่อสังคมออนไลน์ของพ่อแม่คนไทย โดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ประกอบด้วย แบบสอบถามออนไลน์เป็นพ่อแม่คนไทย จำนวน 412 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 45 ปี และมีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึก พ่อแม่คนไทย 6 ประเภท ประเภทละ 2 คน รวมทั้งหมด 12 คน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93.4 เป็นพ่อแม่ที่แบ่งปันเนื้อหาลูกบนสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเหตุผลสำคัญคือ แรงจูงใจด้านอารมณ์ แรงจูงใจด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และแรงจูงใจด้านเทคโนโลยีส่วนพ่อแม่ที่ไม่แบ่งปันเนื้อหาลูกมีเหตุผลสำคัญ คือ เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว และเกรงผลกระทบด้านลบที่มีต่อลูกในอนาคต ทั้งนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่เริ่มแบ่งปันเนื้อหาในช่วงขวบปีแรกของลูก โดยแบ่งปันด้วยความถี่น้อยกว่าเดือนละครั้ง ผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และมีการตั้งค่าผู้เข้าถึงเนื้อหา อย่างไรก็ตามพ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกขอความยินยอมจากลูกก่อนแบ่งปันเนื้อหาเพียงบางครั้ง และมีถึงร้อยละ 22.1 ที่ไม่เคยขอความยินยอมจากลูกก่อนแบ่งปันเนื้อหาเลย ด้วยเหตุผลเรื่องลูกยังเด็ก ลูกยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการตัดสินใจ และมั่นใจว่าพ่อแม่เองสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ทั้งนี้ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการแบ่งปันเนื้อหาลูกบนสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบด้วย ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยด้านความรู้ และปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ปัจจัยด้านเทคโนโลยี และปัจจัยด้านวัฒนธรรมและกระแสสังคม ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการขอความยินยอมจากลูกก่อนแบ่งปันเนื้อหา ประกอบด้วย ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ปัจจัยด้านอารมณ์ และปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ปัจจัยด้านวัฒนธรรมและกระแสสังคม ปัจจัยด้านกฎหมายและปัจจัยด้านรางวัล ผลการวิจัยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการแบ่งปันเนื้อหาลูกบนสื่อสังคมออนไลน์ของพ่อแม่คนไทยสามารถสร้างพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวที่เป็นความสุข ความทรงจำและเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างไรก็ตามในการแบ่งปันเนื้อหาลูกบนสื่อสังคมออนไลน์ พ่อแม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อลูกที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและการเปิดให้ลูกร่วมตัดสินใจในเรื่องของลูกที่มักถูกละเลยจากพ่อแม่คนไทย