Abstract:
การวิจัยเชิงสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) อธิบายการรับรู้ตราสินค้าบุคคลทางการเมือง (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) และพฤติกรรมการเลือกตั้ง 2) วิเคราะห์อิทธิพลของการรับรู้ตราสินค้าบุคคลทางการเมืองที่มีต่อพฤติกรรมการเลือกตั้ง 3) วิเคราะห์อิทธิพลของทัศนคติต่อการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อความผูกพันบนสื่อสังคมออนไลน์ 4) วิเคราะห์อิทธิพลของความสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของตนเองในฐานะตัวแปรกำกับ ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ตราสินค้าบุคคลทางการเมืองกับพฤติกรรมการเลือกตั้ง และ 5) วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันในแง่ของตัวแปรต่าง ๆ โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 465 คน มีอายุระหว่าง 18 – 58 ปี และติดตามหรือเคยเห็นสื่อสังคมออนไลน์ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อย่างน้อย 3 ครั้ง ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ตราสินค้าบุคคลทางการเมืองในระดับสูง โดยเฉพาะมิติด้านความน่าไว้วางใจ และมีพฤติกรรมการเลือกตั้งในระดับที่ดี นอกจากนี้ การรับรู้ตราสินค้าบุคคลทางการเมืองมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมไปถึงทัศนคติต่อการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อความผูกพันบนสื่อสังคมออนไลน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ความสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของตนเองยังส่งผลเชิงลบต่อความตั้งใจในการแนะนำ และความตั้งใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งในแต่ละเจนเนอเรชันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในแง่ของการรับรู้ตราสินค้าบุคคลทางการเมือง ความสอดคคล้องกับภาพลักษณ์ของตนเอง และทัศนคติต่อการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วย