Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการนำเสนอการโหยหาอดีต และ วิเคราะห์การประกอบสร้างความทรงจำร่วมจากแนวเพลงซินธ์ป๊อปของศิลปินโพลีแคท และ วรันธร เปานิล ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิเคราะห์ตัวบทจาก ผลงานเพลงของทั้งสองศิลปินจากแพลตฟอร์มออนไลน์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสรรค์ ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ประพันธ์เพลง แฟนเพลง และผู้เชี่ยวชาญที่ให้มุมมองวิชาการในด้านดนตรีศึกษากับมิติเชิงสังคม รวมทั้งสิ้น 23 คน
ผลการวิจัยพบว่า การโหยหาอดีตในแนวเพลงซินธ์ป๊อปของทั้งสองศิลปิน มีกลวิธีในการนำเสนอผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ของเพลง ได้แก่ เนื้อเพลง (Lyrics) คีตประพันธ์ (Form) จังหวะ (Tempo) และ สีสันของเสียง (Tone color) โดยภาพรวมของผลงานเพลงทั้งหมด มุ่งถ่ายทอดเนื้อหาผ่าน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ มุมมองเกี่ยวกับเรื่องความรัก และ ช่วงเวลาสำคัญของชีวิต แฟนเพลงสามารถเชื่อมโยงการโหยหาอดีตที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล ได้จากตัวแปรสำคัญ คือ ประสบการณ์การใช้ชีวิต (Live experience) ซึ่งสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึก (Emotional and feeling) ที่เกิดขึ้นระหว่างการฟังเพลงนั้นในอดีตเป็นหลัก สำหรับองค์ประกอบของคีตประพันธ์พบว่า โครงสร้างของเพลงแบบ ABC ที่มีการวนซ้ำในตำแหน่งครอรัสของเพลง เป็นแบบแผนที่เสริมให้เพลงซินธ์ป๊อปเกิดท่อนที่จดจำ และแฟนเพลงสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาผ่านเพลงกับเรื่องราวของอดีตของตนเองได้ ในส่วนของสีสันของเสียง พบว่า ซินธิไซเซอร์ เป็นเครื่องดนตรีหลักที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ (Identity) ของแนวเพลงเป็นซินธ์ป๊อปให้แฟนเพลงสามารถเชื่อมโยงกับเสน่ห์ในยุค 80s อาทิ สภาพสังคมความเป็นอยู่ หรือ แฟชั่นเครื่องแต่งกาย ที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น และองค์ประกอบส่วนของจังหวะ เป็นตัวแปรสำคัญในการส่งเสริมอารมณ์เพลง ให้ผู้ฟังสามารถเลือกเชื่อมโยงความรู้สึกจากประสบการณ์อดีตที่เกิดขึ้นได้แตกต่างกันตามบุคคล เมื่อพิจารณาการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับการโหยหาอดีตผ่านเพลง กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในมุมของศิลปิน อาศัยกระบวนการในการการถ่ายทอดแรงบันดาลใจร่วมกับ การนำเสนอเอกลักษณ์ของความเก่าคลาสสิค แบบ 80s ที่สะท้อนผ่านตัวตนของตนเอง ในขณะเดียวกับแฟนเพลงสามารถรับรู้และเชื่อมโยงเอกลักษณ์นั้น ร่วมกับประสบการณ์ส่วนตัวอันนำไปสู่การโหยหาอดีตจากแนวเพลงซินธ์ป๊อปได้ และสำหรับการประกอบสร้างความทรงจำร่วม ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ตัวบทผ่านสื่อคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ (Event) ที่มีร่วมกันระหว่างศิลปินและแฟนเพลง พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความทรงจำร่วมผ่านเพลงซินธ์ป๊อปของโพลีแคท และ วรันธร เปานิล ประกอบไปด้วย 1) ประสบการณ์ส่วนตัว 2) รสนิยมในการฟังเพลง (Personal taste) 3) กิจกรรมร่วม (Activities) และ 4) การส่งเสริมผ่านกระบวนการสื่อสารโดยเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (User generated content)