Abstract:
ปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกรวมถึงอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ทั้งนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดให้ทุกธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างยั่งยืนภายในปี 2565 งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาแนวทางดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามแนวคิด ESG โดยใช้การรวบรวมข้อมูลจากรายงาน 56-1 One Report ประจำปี 2564 ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 15 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 3 แห่ง บริษัทขนาดกลาง 3 แห่ง และขนาดเล็ก 9 แห่ง รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ประกอบการจากบริษัทกรณีศึกษาจำนวน 3 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนเชิงเปรียบเทียบระหว่างขนาดบริษัท และเกณฑ์ ESG รวมทั้งหมด 21 ประเด็น แนวคิด และแนวทางดำเนินงาน รวมถึงผลการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคที่พบในการดำเนินงานตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนดังกล่าว
ผลการศึกษาพบว่า 1) บริษัทส่วนใหญ่มีวิสัยทัศน์พันธกิจ และค่านิยมองค์กรด้านความยั่งยืนที่สำคัญ คือ การเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์และรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายโดยเฉพาะลูกค้า และผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์รูปแบบการดำเนินชีวิต 2) แนวทางดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน บริษัทส่วนใหญ่มีการรายงานด้านสังคม (social) มากที่สุด เนื่องจากบริษัทมีการพัฒนาต่อยอดมาจากการกําหนดการดําเนินงานเพื่อสังคมในกระบวนการกํากับกิจการ (CSR in Process) โดยเฉพาะประเด็นด้านแรงงาน สังคม ชุมชน รองลงมาคือด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (governance & economy) ในประเด็นที่สัมพันธ์กับองค์กร ลูกค้า และนักลงทุน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สัมพันธ์ต่อการลงทุน และผลตอบแทนทางการเงินของบริษัท และรายงานน้อยที่สุดด้านสิ่งแวดล้อม (environment) ในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ 3) บริษัทขนาดใหญ่มีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ขณะที่บริษัทขนาดกลางมุ่งดำเนินงานด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบริษัทขนาดเล็กมุ่งดำเนินงานโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม 4) กลยุทธ์การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวคิด ESG ของบริษัทกรณีศึกษามีทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ (1) กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบในการพัฒนาโครงการ ซึ่งมีส่วนสำคัญตลอดช่วงการพัฒนาโครงการ และสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์ที่เหลือ (2) กลยุทธ์การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (3) กลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่ตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบัน (4) กลยุทธ์การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และ (5) กลยุทธ์ระบบบริหารจัดการชุมชนเพื่อความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัย สะท้อนผลการดำเนินงานในรูปธรรม อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทกรณีศึกษาทั้ง 3 แห่ง ได้รับการประเมินอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) 5) พบอุปสรรคสำคัญของการดำเนินงานเพื่อสอดรับกับแนวคิด ESG คือ กระบวนการปรับการจัดการข้อมูลการดำเนินงานจากภายในองค์กร ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน สู่การเป็นธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นสถานการณ์การดำเนินธุรกิจ และกลยุทธ์ระดับพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทตามแนวคิด ESG สะท้อนให้เห็นการปรับตัว ความพร้อม รวมถึงปัญหาอุปสรรคของภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อการนำแนวคิด ESG เข้าสู่ทุกกระบวนการการพัฒนาที่อยู่อาศัย แม้อยู่ในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้มีการบังคับใช้เกณฑ์การรายงานด้านความยั่งยืนเป็นทางการซึ่งเริ่มในปี 2565