Abstract:
ในการดำรงชีวิต มีความเกี่ยวข้องจากทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต โดยจะพบว่าตั้งแต่ก่อนปี 2561 ลักษณะการใช้ชีวิตโดยทั่วไปแบบดั้งเดิมเป็นลักษณะที่ ผู้รับบริการต้องเข้าหาผู้ให้บริการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 และมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ทางภาครัฐประกาศหยุดการดำเนินการต่าง ๆภายในประเทศ ทั้งการประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชนและการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านค้าในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สามารถเปิดให้บริการแบบเดิมได้ จากการปรับตัวของผู้ประกอบการร้านค้าในช่วงปี 2564 ถึง 2565 พบว่าผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับรูปแบบร้านค้าเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย จากร้านค้าดั้งเดิมที่เป็นลักษณะการเช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า มีการปรับตัวเป็นลักษณะการเช่าพื้นที่ภายนอก(Stand-alone) ในรูปแบบร้านค้าอยู่กับที่ หรือบางรายมีการปรับเป็นลักษณะรถขายอาหารเคลื่อนที่(Food truck)ในรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ เป็นลักษณะของการให้บริการแบบที่ ผู้ให้บริการเข้าหาผู้รับบริการ
การศึกษาครั้งนี้แบ่งการเก็บข้อมูลรูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ เป็น 3 ส่วน คือ 1)ลักษณะกายภาพและการบริหารจัดการของร้านค้า 2)พฤติกรรมของผู้บริโภค 3)ปัจจัยและเหตุผลในการตัดสินใจของผู้ประกอบการ จากผลการศึกษาร้านค้าในผู้ประกอบการรายเดียวกัน พบว่า ลักษณะร้านค้าแบบดั้งเดิมจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ให้บริการลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตั้งที่มีศักยภาพสูง มีปริมาณการเข้ามาของกลุ่มคนในพื้นที่จำนวนมากและมีความหลากหลาย ซึ่งจะแตกต่างจากร้านค้าที่เกิดจากการปรับตัว ที่เลือกเข้าหากลุ่มผู้บริโภค ทั้งในย่านชุมชนและทางสัญจรหลักในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ขนาดพื้นที่ร้านค้าที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อรูปแบบการให้บริการ จำนวนพนักงาน และช่วงเวลาในการเปิดให้บริการ ตามแต่ละลักษณะของร้านค้า สาธารณูปโภคและสาธารณูปการโดยรอบพื้นที่ โดยลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าที่สามารถทำได้ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการในวันธรรมดาและวันหยุดแตกต่างกัน ตามลักษณะของตำแหน่งที่ตั้งร้านค้า ระยะทางและช่วงเวลาในการเข้าใช้บริการ ส่วนผู้ประกอบการตัดสินใจปรับลักษณะการใช้งานพื้นที่ร้านค้าดั้งเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงขยายโมเดลธุรกิจร้านค้าใหม่ๆ ลดต้นทุนให้เกิดความคล่องตัว และรองรับการให้บริการเดลิเวอรี่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา
จากงานวิจัยพบว่าการนำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาปรับใช้ช่วยให้เกิดประโยชน์ในการเข้าใจลักษณะของพื้นที่รวมถึงการเข้าถึงตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ผู้วิจัยทำการศึกษาเฉพาะด้านกายภาพและพฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้น หากผู้ที่มีความสนใจอาจศึกษาในด้านของการลงทุนธุรกิจร้านค้าปลีกเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจและลดความผิดพลาดในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น