Abstract:
งานวิจัยเรื่องการเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเลนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ธรรมาภิบาลความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล และวิเคราะห์ผลของการดำเนินงานและการคุ้มครองทางสังคมต่อแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ แรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง จำนวน จำนวน 20 คน รวมทั้งการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในการตรวจแรงงานประมงทะเลรวมกับเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้าร่วมประชุมการสัมมนาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่า
1) รัฐไทยมีพัฒนาการด้านนโยบายในการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเลเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและปัจจัยหลักที่รัฐให้ความสำคัญ ตั้งแต่การใช้นโยบายด้านความมั่นคง นโยบายการผ่อนผันให้ทำงานและนำแรงงานเข้าสู่ระบบกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นนโยบายภายใต้แรงกดดันจากภายนอก
2) การเมืองเรื่องธรรมาภิบาล ในช่วง พ.ศ.2558-2562 (ก่อนปลดใบเหลือง) กระบวนการบริหารจัดการร่วมกันเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีอำนาจไม่เท่ากัน รวมทั้งมีการเจรจาซึ่งหน้า มีความไว้วางใจ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน และความเข้าใจร่วมกันน้อย ทำให้ขาดความร่วมมือร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการประมงทะเล มีรูปแบบเป็น
‘ธรรมาภิบาลแบบสั่งการ’ (Directive Governance) คือ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดทิศทาง การบังคับใช้กฎหมายและบริหารจัดการแรงงานผ่านนายจ้าง และยังคงไว้ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจและสั่งการแบบบนลงล่าง แต่ยังไม่สามารถสร้างระบอบที่เป็นกระบวนการตามแนวคิดธรรมาภิบาลความร่วมมือที่ทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำได้ ต่อมาในช่วง พ.ศ.2562 (หลังปลดใบเหลือง) - 2565 เป็นช่วงรัฐบาลแบบปกติ ภาครัฐมีการสร้างกลไกในการบริหารจัดการที่ส่อให้เห็นความมีธรรมาภิบาลความร่วมมือมากขึ้น โดยเฉพาะกรมสวัสดิการแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตัวอย่างของการรับฟังความคิดเห็นอันนำมาสู่การประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกันที่ชัดเจน เช่น กรณีประกันสังคม
3) ผลของการดำเนินงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล แม้จะมีพลวัตรในเชิงหลักการ เช่น การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานประมงทะเลโดยตรง แต่ยังคงมีปัญหาด้านการปฏิบัติใช้ เช่น กรณีการเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน ที่มีอุปสรรคในด้านเอกสาร และปัญหาข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังจากการดำเนินการของภาครัฐ