Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์การปฏิบัติงานแบบ FAST Government กรณีศึกษากรมสรรพากร และกรมการขนส่งทางบก (2) ศึกษาระดับขององค์การในการเป็นองค์การแบบ FAST Government (3) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการปรับเปลี่ยนองค์การแบบ FAST Government โดย FAST Government แบ่งออกเป็น 4 ปัจจัย ได้แก่ Flatter Government (รัฐบาลแนวราบ) Agile Government (รัฐบาลแบบคล่องตัว) Streamlined Government (รัฐบาลแบบมีประสิทธิภาพสูงสุด) Tech-enabled Government (รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งระเบียบวิธีการวิจัยที่ใช้ในงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบพหุวิธี (Multi Methods) โดยใช้วิธีการเชิงคุณภาพในการศึกษาการปฏิบัติงาน ปัญหา และอุปสรรคของกรมสรรพากรและกรมการขนส่งทางบกในการปรับองค์การแบบ FAST Government โดยการสัมภาษณ์บุคลากรกรมสรรพากร กรมการขนส่งทางบก และบุคลากรหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 คน และใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ในการวิเคราะห์ระดับขององค์การในการเป็นองค์การแบบ FAST Government จากการใช้แบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) จากผลการวิจัย พบว่า กรมสรรพากรและกรมการขนส่งทางบกมีการปฏิบัติงานแบบ FAST Government ที่มีความคล้ายคลึงกัน คือมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการปฏิบัติงาน เพื่อความรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและวิธีการปฏิบัติงานแบบคล่องตัว (Agile) เข้ามาประยุกต์ใช้ โดยกรมสรรพากรและกรมการขนส่งทางบก มีระดับการเป็นองค์การแบบ FAST Government ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ปัญหาอุปสรรคของโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัวได้ตามที่ทั้งสองกรมต้องการ อีกทั้งบุคลากรยังขาดความรู้ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี