Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาการสืบทอดขนบการเฉลิมพระเกียรติและการสร้างสรรค์ใหม่
ในบทอาศิรวาทในสิ่งพิมพ์รายคาบสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 จำนวน 30 ชื่อเรื่อง รวม 247 สำนวน รวมถึงศึกษาความสำคัญของบทอาศิรวาทดังกล่าว
ผลการศึกษาพบว่า บทอาศิรวาทเป็นบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลพระมหากษัตริย์รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ มักแต่งเป็นบทร้อยกรองขนาดสั้นเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ มีเนื้อหาหลัก 2 ส่วน ได้แก่ การเฉลิมพระเกียรติและการถวายพระพรชัยมงคล บทอาศิรวาทมีทั้งการสืบทอดขนบการเฉลิมพระเกียรติในวรรณคดีและมีการสร้างสรรค์ใหม่ กล่าวคือ ในด้านรูปแบบ มีการสืบทอดการใช้รูปแบบคำประพันธ์ตามอย่างวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติแต่โบราณ และการใช้รูปแบบคำประพันธ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ บทประพันธ์มีความยาวที่สอดคล้องกับลักษณะของสิ่งพิมพ์รายคาบ ในด้านเนื้อหาและแนวคิด บทอาศิรวาทสืบทอดเนื้อหาและแนวคิดเฉลิมพระเกียรติตามขนบ ได้แก่ การสรรเสริญพระมหากษัตริย์ตามคติศาสนา คือ ธรรมิกราชา โพธิสัตวราชา จักรพรรดิราชา และเทวราชา การสรรเสริญพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถด้านการปกครองและศาสตร์ต่าง ๆ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาราษฎร และทรงเป็นผู้มีบุญญาธิการ นอกจากนี้ ยังมีการสรรเสริญพระเกียรติผ่านการชมบ้านเมืองและพระราชพิธีซึ่งแสดงถึงพระเกียรติยศ ตลอดจนสืบทอดเนื้อหาถวายพระพรชัยมงคลแด่พระมหากษัตริย์ด้วย ขณะเดียวกัน บทอาศิรวาทในสิ่งพิมพ์รายคาบแสดงให้เห็นการสร้างสรรค์เนื้อหาเฉลิมพระเกียรติตามแนวคิดอย่างใหม่ซึ่งสัมพันธ์กับยุคสมัย ทั้งยังมีการระบุโอกาสในการเฉลิมพระเกียรติอย่างชัดเจน ในด้านวรรณศิลป์ มีการสืบทอดการใช้ถ้อยคำ ความเปรียบ และลำดับความตามขนบการเฉลิมพระเกียรติในวรรณคดี ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์ความเปรียบการวางเนื้อหาและการดำเนินเรื่องเพื่อสร้างความน่าสนใจ จึงกล่าวได้ว่าบทอาศิรวาทเป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติรูปแบบใหม่ที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วยความเฟื่องฟูของสิ่งพิมพ์รายคาบ ส่งผลให้บทอาศิรวาทมีความสำคัญต่อการส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญต่อการเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 รวมทั้งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของสิ่งพิมพ์รายคาบไทยและพัฒนาการของวรรณคดีไทย