Abstract:
โครงการวิจัยนี้เป็นการนำมอนต์มอริลโลไนต์มาทำการดัดแปรด้วยปฏิกิริยาการแลกเปลี่ยนประจุบวก กับสารทนให้นุ่มชนิดประจุบวก Tego 28 (Di-Palm carboxyethyl hydroxyethyl methyl ammonium methosulfate) พบว่า สารทำให้นุ่มชนิดประจุบวก Tego 28 สามารถแยกระยะห่างระหว่างชั้นของอะลูมิเนียมซิลิเกตในมอนต์มอริลโลไนต์ได้ ทำให้ได้ออร์กาโนเคลย์ ที่สามารถนำไปผสมในสารตกแต่งทำให้นุ่มได้ ในโครงการวิจัยได้ทำการเตรียมสารตกแต่งทำให้นุ่ม 3 ชนิด ประกอบด้วย สารทำให้นุ่มชนิดที่เป็นประจุบวก Tego 28 และชนิดที่ไม่มีประจุของ Lustrex (High-melt polyethylene emulsion) และของ Silastol (Silicone elastomer) แล้วนำสารตกแต่งสำเร็จที่เตรียมขึ้นมาตกแต่งลงบนผ้าฝ้ายโดยวิธีจุ่มอัด หลังจากนั้นนำผ้าฝ้ายที่ผ่านการตกแต่งสำเร็จไปทดสอบสมบัติต่างๆ ประกอบด้วย สมบัติการหน่วงไฟด้วยการทดสอบสมบัติการติดไฟและเสถียรภาพทางความร้อน ความขาว ความแข็งกระด้าง ความแข็งแรงต่อการฉีกขาด จากผลการศึกษาพบว่ามีเพียงผ้าที่ตกแต่งด้วยสารทำให้นุ่มชนิดประจุบวก Tego 28 ที่ผสมมอนต์มอริลโลไนต์ดัดแปรแสดงสมบัติการหน่วงไฟที่ดีขึ้นเมื่อเติมปริมาณมอนต์มอริลโลไนต์ที่ดัดแปรเพิ่มขึ้น และสมบัติความกระด้างของผ้ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเมื่อปริมาณมอนมอริลโลไนต์ดัดแปรที่เติมเข้าไปในสูตรของสารตกแต่งทำให้นุ่มเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากการเติมปริมาณมอนต์มอริลโลไนต์ดัดแปรเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ ความแข็งกระด้างของผ้าลดลงอย่างมาก และความขาวของผ้าฝ้ายจะลดลงมากขึ้นเมื่อปริมาณมอนต์มอริลโลไนต์ดัดแปรที่เติมในสูตรสารตกแต่งทำให้นุ่มมีปริมาณที่มากขึ้นเช่นกัน ส่วนสมบัติด้านความแข็งแรงต่อการฉีกขาดไม่มีผลกระทบมากนักซึ่งจะมีค่าใกล้เคียงกับผ้าฝ้ายที่ตกแต่งด้วยสารทำให้นุ่ม Tego 28 เพียงอย่างเดียว สำหรับผ้าที่ตกแต่งด้วยสารทำให้นุ่มที่ไม่มีประจุทั้ง 2 ชนิด ที่นำมาผสมกับมอนต์มอริลโลไนต์ดัดแปรไม่แสดงสมบัติการหน่วงไฟที่ดีขึ้นแต่อย่างไร และสมบัติทางด้านความกระด้างและความแข็งแรงต่อการฉีกขาดไม่มีผลกระทบมากนัก ส่วนความขาวของผ้าฝ้ายจะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อใช้สารตกแต่งทำให้นุ่มที่ไม่มีประจุของ Silastol