Abstract:
ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 18.31และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ใกล้เคียงกับนิยามสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควรมีความพร้อมสำหรับรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงการข้ามถนน ซึ่งสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนนแบบมีชุดนับเวลาถอยหลัง ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ส่งเสริมความปลอดภัยแก่คนเดินเท้า โดยจะแสดงเวลานับถอยหลังให้คนเดินข้าม พร้อมทั้งกำกับให้ยานพาหนะหยุดรอ งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้ทางข้ามที่สัญญาณไฟแบบนับถอยหลังของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการข้ามของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับความเร็วที่ใช้ในการออกแบบสัญญาณไฟในพื้นที่จริง และความเร็วมาตรฐานต่างประเทศ โดยใช้การทดสอบสมมติฐาน t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างมีการแจงแจงแบบปกติ และใช้การทดสอบของครัสคาลและวอลลิส ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างมีการแจงแจงแบบไม่ปกติ จากนั้นใช้การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นอย่างง่ายเพื่อหาความเร็วที่เหมาะสมสำหรับใช้ออกแบบสัญญาณไฟตามสัดส่วนคนข้ามที่เป็นผู้สูงอายุ จากกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ 227 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความเร็วการเดินที่ 15th Percentiles เฉลี่ยจากสัดส่วนผู้สูงอายุ ไม่แตกต่างกับความเร็วแนะนำ Highway Capacity Manual (2016) อย่างมีนัยสำคัญ และมีทางข้าม 3 แห่งจากที่ศึกษา 6 แห่งที่ใช้ความเร็วที่มากกว่าความเร็วการเดินที่ 15th Percentiles เฉลี่ยจากสัดส่วนผู้สูงอายุ ในทางข้ามนั้นอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการข้ามของผู้สูงอายุ พบว่าตัวแปรช่วงวัย ทางข้ามที่แตกต่างกัน การถือสัมภาระ ส่งผลต่อความเร็วของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ และความเร็วที่เหมาะสมสำหรับใช้ออกแบบสัญญาณไฟตามสัดส่วนคนข้ามที่เป็นผู้สูงอายุจากข้อมูลทุกทางข้ามรวมกันมีความพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ