Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการสั่งซื้อของอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันต่ำในธุรกิจซื้อมาขายไป จากการศึกษาปัญหาพบว่า สินค้าคงคลังมีมูลค่าสินค้าคงคลังมากกว่ามูลค่ายอดขาย บางครั้งมีการสั่งสินค้ามาเกินความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าคงคลังรวมสูง ดังนั้นจึงได้เริ่มการปรับปรุงกระบวนการโดยใช้เทคนิค ABC Analysis ในการจำแนกลำดับความสำคัญของสินค้า โดยใช้ 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์มูลค่าการใช้ต่อปี เกณฑ์ของระยะเวลานำของสินค้า และเกณฑ์ความถี่ของการสั่งซื้อสินค้า ทำให้ได้กลุ่มของสินค้าที่จะเลือกทำการปรับปรุงทั้งหมด 39 ชนิด แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ MCB, RCBO, Busbar และ Circuit Breaker หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ความต้องการของสินค้าจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี (ปี2563-2565) พบว่าสินค้ามีลักษณะแนวโน้มขึ้น/ลง (Trending) และการเปลี่ยนแปลงหรือความผันแปรเนื่องจากเหตุการณ์ผิดปกติ (Assignable Cause) เมื่อทราบลักษณะแนวโน้มเพื่อนำไปกำหนดนโยบายการสั่งซื้อที่เหมาะสมที่สุด โดยวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนของสินค้า ถ้าค่าของสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนมีค่าน้อยกว่า 0.25 คือมีความแปรปรวนน้อย ความต้องการของสินค้ามีลักษณะคงที่ นโยบายสินค้าคงคลังที่ใช้คือ EOQ ถ้าหาค่าของสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนมีค่ามากกว่า 0.25 คือมีความแปรปรวนมาก ความต้องการของสินค้ามีลักษณะไม่คงที่ นโยบายสินค้าคงคลังที่ใช้คือ Silver-Meal หลังจากที่นำนโยบายการสั่งซื้อสินค้าไปประยุกต์ใช้เพื่อคำนวณหาต้นทุนรวมสินค้า พบว่า นโยบายที่ใช้เทคนิค EOQ สามารถลดต้นทุนรวมได้ 14,497.16 บาท คิดเป็น 75.18% ของต้นทุนรวมในปัจจุบัน และนโยบายที่ใช้เทคนิค Silver-Meal สามารถลดต้นทุนรวมได้ 169.31 บาท คิดเป็น 4.99% ของต้นทุนรวมในปัจจุบัน