Abstract:
วัตถุประสงค์หลักของสารนิพนธ์ฉบับนี้คือการศึกษาสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครสู่เป้าหมายตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผู้อำนวยการส่วนขยะมูลฝอยชุมชน กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ด้านสิ่งแวดล้อม), รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล, ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม, หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ (สำนักงานเขตปทุมวันและสำนักงานเขตจตุจักร), หัวหน้าพนักงานกวาดและพนักงานเก็บขยะมูลฝอย (สำนักงานเขตคลองเตย)
ผลการศึกษาพบว่าปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครสู่เป้าหมายตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี มีจำนวน 5 ด้าน ได้แก่ สมรรถนะขององค์กร, ประสิทธิภาพในการวางแผนและควบคุม, ภาวะผู้นำและความร่วมมือ, การเมืองและการบริหารสิ่งแวดล้อมภายนอก, และกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็พบว่าแนวทางการจัดการขยะตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวน 8 นโยบาย ก็มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี ซึ่งก็คือการมีเป้าหมายร่วมกันเกี่ยวกับการลดและควบคุมปริมาณมูลฝอย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอยตั้งแต่แหล่งกำเนิดจนถึงการกำจัดอย่างถูกต้อง
ตามหลักวิชาการ อย่างไรก็ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มีความแตกต่างจากแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี
ในประเด็นเกี่ยวกับการเพิ่มรถขยะขนาดเล็กสำหรับการเก็บขนขยะในซอยต่าง ๆ และการเพิ่มสวัสดิการพนักงานเก็บขยะ
เมื่อพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน ประเทศไทยควรกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาขยะให้เป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาล รวมถึงการกำหนดกฎหมายควบคุมการจัดการขยะในภาพรวมของประเทศให้มีความครอบคลุมการจัดการขยะทั้งระบบ พร้อมทั้งการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะ
ในภาพรวมของประเทศ ในขณะเดียวกันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครควรกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาขยะให้เป็นโครงการสำคัญทุกปีงบประมาณ อีกทั้งต้องพิจารณาปรับข้อบัญญัติเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขนขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพื่อเพิ่มสวัสดิการประกันอุบัติเหตุให้กับพนักงานเก็บขนมูลฝอย ตลอดจนสร้างภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครโดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม