Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ได้ติดตามผลกระทบของการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่ง 43.1 กิโลเมตรของชายฝั่งเพชรบุรีซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอ่าวไทยตอนบนในช่วงปี 2497-2560 ตำแหน่งของแนวชายฝั่งในอดีตที่ช่วงเวลาต่าง ๆ ได้จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศปี 2497, 2510, 2519, 2537 และข้อมูลดาวเทียมปี 2541, 2552, 2558 และ 2560 โดยใช้ซอฟท์แวร์ระบบสารสนเทศ ArcGIS โดยข้อมูลภาพทั้งหมดจะถูกตรึงพิกัดสู่ระบบ World Geodetic 1983 (WGS 1983) เพื่อกำจัดความบิดเบี้ยงจากภาพถ่ายและข้อมูลดาวเทียม ตำแหน่งของแนวชายฝั่งของพื้นที่ศึกษาถูกลากขึ้นสำหรับแต่ละช่วงปีข้อมูล ระบบ Digital Shoreline Analysis (DSAS) เวอร์ชัน 4.4 ถูกใช้เพื่อการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งแนวชายฝั่งบริเวณพื้นที่ศึกษา ผลการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ประมาณ 47 เปอร์เซ็นต์ ของแนวชายฝั่งในพื้นที่ศึกษาเกิดการถดถอยอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 60 ปี ด้วยอัตราเฉลี่ย -1.3 และ -5 เมตรต่อปี สำหรับชายฝั่งทรายและชายฝั่งโคลนตามลำดับ ชายฝั่งส่วนที่เหลือซึ่งเป็นชายฝั่งโคลนมีการงอกเพิ่มอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราสูงสุด 30 เมตรต่อปี และอัตราเฉลี่ย 8.6 เมตรต่อปี สำหรับสาเหตุของการถดถอยของชายฝั่งจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการชายฝั่งเฉพาะที่เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพคลื่นและกระแสน้ำโครงสร้างทางวิศวกรรมหลายประเภท เช่น กำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่น และคันดักตะกอน ถูกนำมาใช้ในการป้องกันแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ จากการวิเคราะห์แนวชายฝั่งพบว่า โครงสร้างเขื่อนกันคลื่นสามารถนำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพของหาดทรายของชายฝั่งเพชรบุรีได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามเสถียรภาพของชายฝั่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสลายตัวของสันทรายแหลมผักเบี้ยซึ่งเป็นหนึ่งในสันทรายธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากขาดตะกอนทรายจากด้านเหนือน้ำเข้ามาเติมในพื้นที่ ในขณะที่การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและกำแพงกันทรายบริเวณชายฝั่งโคลนของจังหวัดเพชรบุรีไม่แสดงผลกระทบด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งในพื้นที่ศึกษาแต่กลับช่วยรักษาเสถียรภาพของแนวชายฝั่งไว้ได้