Abstract:
นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Grus Antigone sharpie) ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ต่อมาได้มีการขอรับบริจาคนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากประเทศกัมพูชามาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ในสภาพกรงเลี้ยง ซึ่งการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ไม่ได้ต้องการเพิ่มจำนวนและอัตราความอยู่รอดของประชากรในสภาพกรงเลี้ยงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความหลากลหายทางพันธุกรรมภายในประชากร ดังนั้นผู้วิจัยจึงใช้เครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอ ตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว (n=9) และสถานีวิจัยเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ (n=17) โดยเก็บตัวอย่างเส้นขนมาสกัดดีเอ็นเอ เพิ่มปริมาณไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอด้วยไพรเมอร์ที่เคยใช้ศึกษาในนกกระเรียนกู่ (G.americana) จำนวน 14 คู่ รวมถึงหาจำนวนของอัลลีล ลำดับเบสซ้ำ จำนวนชุดการซ้ำ และค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมบริเวณโลคัส Gram6 ผลการศึกษาพบว่าไพรเมอร์ทั้งหมดสามารถใช้เพิ่มปริมาณไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอในจีโนมของนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้แต่มีเพียง 9 คู่ที่แสดงความเป็น polymorphism โดยลำดับเบสที่ซ้ำกัน คือ (AGGT)n(AGAT)n จำนวนของอัลลีลมีค่าเท่ากับ 6 ค่า observed และค่า expected heterozygosity เท่ากับ 0.7692 และ 0.7825 ตามลำดับ แสดงว่าประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยในสภาพกรงเลี้ยงจาก 2 พื้นที่การศึกษามีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างสูงและค่า Fst เท่ากับ 0.0274 แสดงว่าทั้ง 2 ประชากรมีอัลลีลร่วมกัน