Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรี
ในหลักสูตรดนตรีศึกษาระดับอุดมศึกษา การวิจัยในครั้งนี้ดำเนินการด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research) ตามแนวทางการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยทำการศึกษา
เอกสารตัวเล่มหลักสูตรดนตรีศึกษา (มคอ.2) ของสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนทางด้านดนตรีศึกษาใน
ระดับปริญญาบัณฑิตที่ได้จากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 10 สถาบัน ซึ่งในการวิจัยมุ่งศึกษาใน
3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ด้านข้อมูลพื้นฐานของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรี2.ด้านขอบเขต
ของเนื้อหารายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรีและ 3. ด้านขอบเขตของรูปแบบการจัดการเรียนรู้
ภายในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรี
ผลการวิจัยพบว่า
1) ด้านข้อมูลพื้นฐานของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรี พบว่าสามารถแบ่งได้ 2กลุ่ม
คือ กลุ่มวิชาบังคับ 11 รายวิชา (ร้อยละ 35.48) และกลุ่มวิชาเลือก 20 รายวิชา (64.52)
2) ด้านสถานภาพรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรีซึ่งแบ่งออกเป็นสถานภาพ
ด้านเนื้อหาการจัดการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมดนตรีในประเทศ 13 รายวิชา (ร้อยละ 41.94)
นอกประเทศ 11 รายวิชา (ร้อยละ 35.48) ทั้งในและนอกประเทศ 7 วิชา (ร้อยละ22.58) และ
3) ด้านขอบเขตของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมดนตรี
แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มวิชาเชิงแนวคิดทฤษฎีทางดนตรี 9 วิชา (ร้อยละ 29.03) เชิงปฏิบัติทักษะ
ดนตรี 16 วิชา (ร้อยละ 51.61) และเชิงบูรณาการดนตรีกับศาสตร์อื่น 6 วิชา (ร้อยละ 19.35) นอกจากนี้
ยังมีการกล่าวถึงคำสำคัญที่สื่อถึงเนื้อหา วัตถุประสงค์และความเป็นรายวิชาเชิงแนวคิดทฤษฎีทางดนตรี
ปฏิบัติทักษะดนตรี และบูรณาการดนตรีกับศาสตร์อื่นที่ชัดเจนสามารถเข้าใจภาพรวมของรายวิชาได้
แต่อย่างไรก็ตามรายวิชาทางด้านพหุวัฒนธรรมดนตรีเป็นวิชาที่ควรมีการทบทวนในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับ
การพัฒนาหลักสูตร ในฐานะการเรียนการสอนมีความจำเป็นในสังคมพหุวัฒนธรรมและโลกไร้พรมแดนใน
ปัจจุบัน