Abstract:
การแสดงความไม่พอใจเป็นวัจนกรรมที่เสี่ยงต่อการคุกคามหน้าผู้ฟัง จึงเป็นหนึ่งใน วัจนกรรมที่ท้าทายสำหรับผู้เรียนภาษาที่สอง และเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการนำมาศึกษาตามแนว วัจนปฏิบัติศาสตร์ภาษาระหว่างกลาง งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาวัจนกรรมการแสดงความไม่พอใจของผู้เรียนภาษาไทยชาวจีน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดเติมเต็มบทสนทนาจากผู้เรียนภาษาไทยชาวจีน ผู้พูดภาษาไทย และผู้พูดภาษาจีน กลุ่มละ 50 คน ผลการศึกษาพบว่าในสถานการณ์ที่ไม่พอใจผู้ฟัง ผู้เรียนภาษาไทยชาวจีนและผู้พูดภาษาจีนเลือกที่จะแสดงวัจนกรรมมากกว่าผู้พูดภาษาไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกที่จะกล่าวแสดงความไม่พอใจ ผู้เรียนและผู้พูดภาษาจีนนิยมใช้กลวิธีอ้อมมากกว่ากลวิธีตรง ต่างจากผู้พูดภาษาไทยที่นิยมใช้กลวิธีตรงมากกว่ากลวิธีอ้อม ความแตกต่างเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมได้ ผลการศึกษาที่ได้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับผู้เรียนชาวจีนต่อไป