Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาลักษณะการแปรของหน่วยคำบ่งชี้ความเป็นพหูพจน์ในภาษาอังกฤษโดยผู้เรียนที่มีภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยคือ ศึกษาว่าผู้เรียนชาวไทยสามารถรับหน่วยคำบ่งชี้ความเป็นพหูพจน์รูปปกติ (regular plural morphemes) และรูปไม่ปกติ (irregular plural morphemes) ในภาษาอังกฤษได้หรือไม่ และเพื่อศึกษาว่าการแปร (variability) ที่ปรากฏเป็นผลมาจากรูปแทนทางวากยสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนเป้าหมาย (non-target-like syntactic representations) ตามสมมติฐานลักษณะแสดงหน้าที่ที่ล้มเหลว (Failed Functional Features Hypothesis) (Franceschina, 2001; Hawkins & Chan, 1997) หรือไม่ งานวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนทั้งหมด 36 คน แบ่งเป็นผู้เรียนที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับกลางและผู้เรียนที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูง โดยเก็บข้อมูลจากแบบทดสอบตัดสินความถูกต้องทางไวยากรณ์ (Grammaticality Judgment Test) และแบบทดสอบเติมคำในช่องว่าง (Cloze Test) ผลงานวิจัยยืนยันสมมติฐานแสดงลักษณะหน้าที่ที่ล้มเหลว (Failed Functional Features Hypothesis) (Franceschina, 2001; Hawkins & Chan, 1997) และขัดแย้งกับสมมติฐานการผันคำระดับพื้นผิวที่หายไป (the Missing Surface Inflection Hypothesis) (Lardiere, 1998; Prévost & White, 2000) ทั้งนี้เป็นเพราะผู้เรียนชาวไทยทั้งสองกลุ่มไม่สามารถรับหน่วยคำบ่งชี้ความเป็นพหูพจน์รูปปกติ (regular plural morphemes) และรูปไม่ปกติ (irregular plural morphemes) ในภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากหน่วยคำประเภทนี้ไม่ปรากฏในภาษาไทย ผลวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงอสมมาตรในการใช้หน่วยคำบ่งชี้ความเป็นพหูพจน์กล่าวคือ ในขณะที่ผู้เรียนบางกลุ่มใช้ภาษาแม่ในการตัดสินการใช้คำนามรูปพหูพจน์ แต่บางกลุ่มใช้บริบทที่ชี้นำเพื่อใช้คำนามรูปพหูพจน์ ผลการวิจัยมีประโยชน์สำคัญในด้านนัยยะทางภาษาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการรับภาษาที่สองและนัยยะทางด้านการเรียนการสอน