Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างความหมายร่วมกัน (CMM) และแนวคิดการอ่านบทละคร (RT) ที่มีต่อความสามารถในการสนทนาแบบญี่ปุ่น (共話 หรือ Kyouwa) ของผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นระดับต้น กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มการเรียนรู้ศิลป์ภาษาญี่ปุ่น ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จำนวน 11 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) กิจกรรมการเรียนรู้ และ 2) แบบวัดความสามารถในการสนทนาแบบญี่ปุ่นร่วมกับเกณฑ์รูบริคส์ที่พัฒนาขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบ Wilcoxon signed - rank test ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีผลความสามารถในการสนทนาแบบญี่ปุ่นหลังจากเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 (z = 2.956, p-value = 0.003) ซึ่งในบทบาทผู้พูดมีคะแนนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 โดยพฤติกรรมที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ 1) การพูดไม่จบประโยคเพื่อแสดงความเกรงใจ 2) การถามคู่สนทนาเพื่อสลับบทบาทเป็นผู้ฟัง ตามลำดับ ในบทบาทผู้ฟังมีคะแนนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 โดยพฤติกรรมที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ 1) การตอบรับแสดงความรู้สึกร่วม 2) การตอบรับเสริมการสนทนาด้วยเสียงสั้นๆ หรือท่าทาง ตามลำดับ