Abstract:
เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต่ากระ Eretmochelys imbricate ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือและภาคเอกชนที่ดูแลเกาะ ได้ร่วมมือกันบริหารจัดการพื้นที่หาดทรายให้เหมาะสมกับการขึ้นทำรังวางไข่ จนประสบผลสำเร็จในการเพาะฟักไข่และอนุบาลลูกเต่าได้เป็นจำนวนมากก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การนำลูกเต่าทะเลจากธรรมชาติมาทำการเพาะฟัก และอนุบาลให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกเต่าทะเล ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ประชากรของเต่าทะเลในธรรมชาติ แต่การเลี้ยงเต่าทะเลในบ่อเลี้ยง อาจทำให้เต่าเกิดความเครียดได้ และส่งผลต่อสุขภาวะของเต่าทะเล การประเมินความเครียด และสุขภาวะของเต่ากระบในบ่อเลี้ยง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงเต่ากระให้ดียิ่งขึ้น ในการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบสหสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและค่าทางโลหิตวิทยาของเต่ากระในบ่อเลี้ยง เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินความเครียดและสุขภาวะของเต่ากระ โดยเก็บตัวอย่างเลือดเต่ากระกลุ่มที่สุขภาพปกติ (28 ตัว) และ กลุ่มที่ป่วย (31 ตัว) ในบ่อเลี้ยง ณ เกาะทะลุ ในเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 นำมาตรวจสอบค่าทางโลหิตวิทยาและวัดปริมาณคอร์ติโคสเตอโรนในพลาสมาด้วยเทคนิค enzyme-linked immunosorbent assay พบว่าเต่ากระกลุ่มปกติ และกลุ่มที่ป่วย มีค่าทางโลหิตวิทยาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ ร้อยละของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (70.85 และ 63.95 ในเดือนกันยายน กับ 77.89 และ 69.40 ในเดือนพฤศจิกายน) ร้อยละของเซลล์เม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ (4.14 และ 5.78) ร้อยละของเซลล์เม็ดเลือดขาวเฮเทอโรฟิล (23.91 และ 28.54 ในเดือนกันยายน กับ 16.28 และ 24.35 ในเดือนพฤศจิกายน) และอัตราส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวเฮเทอโรฟิลต่อลิมโฟไซต์ (0.34 และ 0.46 ในเดือนกันยายน กับ 0.21 และ 0.37 ในเดือนพฤศจิกายน) และพบความแตกต่างของระดับคอร์ติโคสเตอโรน (9.64 และ 21.87 ng/mL) โดยเต่าทั้งหมดมีฮอร์โมนในช่วง 3.51-42.72 ng/mL ทั้งนี้ไม่พบสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับคอร์ตอโคสเตอรโรนกับค่าทางโลหิตวิทยา ข้อมูลทางโลหิตวิทยาและฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนที่ได้จากการศึกษานี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินความเครียดและสุขภาวะของเต่ากระต่อไปในอนาคต ขนาดประชากรของเต่ากระอาจประมาณได้จากข้อมูลการทำรังวางไข่ของเต่ากระที่เกาะทะลุ ในปี พ.ศ. 2555 และ 2558 ซึ่งพบว่ามีเต่ากระเพศเมียอย่างน้อย 6 ตัว ที่ใช้เกาะทะลุเป็นพื้นที่ทำรังวางไข่ แต่ไม่สามารถระบุถึงจำนวนเต่ากระเพศผู้ได้ การศึกษานี้จึงได้พัฒนาเทคนิคทางชีววิทยาโมเลกุล เพื่อตรวจสอบจำนวนเต่ากระเพศเมียที่ขึ้นวางไข่ ควบคู่ไปกับการศึกษาภาวะ multiple paternity เพื่อตรวจสอบว่ามีเต่าเพศผู้อย่างน้อยกี่ตัวที่ผสมพันธุ์กับเต่าเพศเมียที่วางไข่รังนี้ โดยใช้เลือดจากตัวอย่างเต่ากระอายุ 1-2 ปี ที่ใช้ศึกษาสุขภาวะและการเจริญเติบโต ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ในการตรวจสอบจำนวนเต่ากระเพศเมีย สามารถใช้บริเวณ control region ของ mitochondrial DNA ระบุอัตลักษณ์ของแม่เต่าได้ ส่วนการตรวจสอบจำนวนเต่ากระเพศผู้ microsatellite primer อย่างน้อย 3 คู่ ที่มีศักยภาพในการใช้ตรวจสอบอัตลักษณ์ของพ่อเต่าได้