Abstract:
การตรวจวัดรังสีแกมมาตามธรรมชาติในสิ่งแวดล้อมตามเส้นทางถนนสายหลักในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิธีการสำรวจทางรถยนต์ ที่ติดตั้งระบบวิเคราะห์รังสีแกมมาชนิดหัววัดเรืองแสงวาบ (Scintillation Detector, NaI(TI)) ขนาด 3 นิ้ว สำหรับเทคนิคการตรวจวัดนี้สามารถทำการสำรวจในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และได้ค่าอัตราปริมาณรังสีสมมูลโดยรอบ และสเปกตรัมพลังงานรังสีแกมมา นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจวัดและวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพจำเพาะของนิวไคลด์ ²²⁶Ra, ²²⁸Ra และ ⁴⁰K ในตัวอย่างดินจาก 3 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยใช้หัววัดรังสีแบบเจอร์มาเนียมบริสุทธิ์สูง) และระบบการวิเคราะห์แบบแกมมาสเปกโตรเมตรี ณ ห้องปฏิบัติการอีกด้วย จากการตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีพื้นหลังใน 3 ภูมิภาคของประเทศไทย นั้นทำให้ได้ข้อมูลรวม 25,346 ข้อมูล และนำข้อมูลดังกล่าวมาแปลงในแผนที่โดยใช้ซอฟต์แวร์ ArcGIS จากการสำรวจพบว่าปริมาณรังสีดูดกลืนเฉลี่ยในอากาศบริเวณภาคกลางมีค่าอยู่ในช่วง 14-106 nGy/h, ภาคเหนือมีค่าอยู่ในช่วง 12-122 nGy/h และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าอยู่ในช่วง 10-62 nGy/h และพบว่าภาคเหนือของประเทศไทยมีปริมาณรังสีดูดกลืนในอากาศสูงสุด