Abstract:
พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ประกอบด้วยระบบนิเวศหลากหลาย ที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ จากผลการศึกษาในภาคสนามที่ผ่านมาพบว่าในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกค่อนข้างสูง มีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดสำคัญ เช่น กบทูด Limnonectes blythii ซึ่งเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และจากศักยภาพในการพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยคณะผู้วิจัยได้สำรวจสุขภาวะจากค่าทางโลหิตวิทยาของกบทูดในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 และกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 (ฤดูแล้งหนาว) เดือนเมษายน พ.ศ. 2560 (ฤดูแล้งร้อน) และเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 (ฤดูฝน) ได้กบทูดจำนวนทั้งหมด 23 ตัว เป็นกบเพศผู้ 13 ตัว มีน้ำหนักเฉลี่ย 295 กรัม มีความยาวจากปลายจมูกถึงรูทวารเฉลี่ย 141 มิลลิเมตร ได้กบทูดเพศเมียทั้งหมด 5 ตัว มีน้ำหนักเฉลี่ย 216 กรัม มีความยาวจากปลายจมูกถึงรูทวารเฉลี่ย 131 มิลลิเมตร และได้กบระยะ juvenile 5 ตัว จากการศึกษาทางโลหิตวิทยา พบว่ากบทูดมีเซลล์เม็ดเลือดประกอบด้วย erythrocyte, thrombocyte และ leukocyte 5 ชนิด ได้แก่ monocyte, lymphocyte, neutrophil, eosinophil และ basophil โดยที่มีลักษณะทางสัณฐานคล้ายคลึงกับกบชนิดอื่น ๆ ที่เคยมีรายงาน นอกจากนี้ยังพบว่ากบทูดมีการติดปรสิตในเลือด 3 กลุ่ม ได้แก่ Hepatozoon sp. มีกบทูดติดปรสิตชนิดนี้รวม 15 ตัว Microfilaria worm มีกบทูดติดปรสิตชนิดนี้รวม 3 ตัว และ Trypanosoma sp. มีกบทูดติดปรสิตชนิดนี้เพียง 1 ตัว คิดเป็นค่าความชุก (Prevalence) โดยรวมเท่ากับ 65% จากการศึกษาสัดส่วนของเซลล์เม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด พบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte เป็นชนิดที่พบมากที่สุด และการติดปรสิตในเลือดมีผลต่อค่าสัดส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดเท่านั้น ได้แก่ ค่าสัดส่วนของ eosinophil มีค่ามากกว่าในกบทูดที่ติดปรสิต และ monocyte มีค่าต่ำกว่าในกบทูดที่ติดปรสิต ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาสุขภาวะและชีววิทยาการสืบพันธุ์ของกบทูดในพื้นที่โครงการ อพ.สธ. ต่อไป เพื่อให้เข้าใจพลวัตประชากรและนิเวศสรีรวิทยาของกบทูด เพื่อการวางแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในระยะยาวต่อไป