Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสำรวจสภาพความต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการศึกษาต่อ กับความต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา (3) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่คัดสรรและสร้างสมการจำแนกกลุ่มความต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติการสอนทางธุรกิจศึกษาและอาชีวศึกษา หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล จำนวน 618 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ทำการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน สถิติ ไค-สแควร์ (Chi-square) สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) และการวิเคราะห์จำแนกกลุ่มพหุ (Multiple Discriminant Analysis) ด้วยโปรแกรม SPSS for windows ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาไม่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52.8 และ 49.8 ตามลำดับ รองลงมาคือต้องการศึกษาต่อในอนาคต (ระหว่าง 1-5 ปี) คิดเป็นร้อยละ 24.6 และ 29.8 ตามลำดับ และ ต้องการศึกษาต่อทันทีน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 22.6 และ 20.4 ตามลำดับ 2. ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการศึกษาต่อทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ได้แก่ อายุ หน่วยงานที่สังกัด ตำแหน่งวิชาการ ความรับผิดชอบสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจศึกษาและอาชีวศึกษา ประสบการณ์ทำงาน รายได้ อาชีพของบิดามารดา การศึกษาสูงสุดของบิดาและหน่วยงานมีแผนจะสนับสนุนให้ศึกษาต่อ ในขณะที่จำนวนพี่น้องที่ศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาและความสะดวกในการเดินทางจากที่ทำงานมาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีความสัมพันธ์กับความต้องการศึกษาต่อทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการศึกษาต่อที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการศึกษาต่อทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ได้แก่ ความต้องการพัฒนาตนเอง ความคาดหวังในการประกอบอาชีพ ความคล้อยตามบุคคลเกี่ยวข้อง ในขณะที่ ปัจจัยทัศนคติต่อวิชาชีพครูไม่มีความสัมพันธ์กับความต้องการศึกษาต่อทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ส่วน ปัจจัยสถาบันการศึกษา และทัศนคติต่อการศึกษาในสายอาชีวศึกษา มีความสัมพันธ์เฉพาะกับความต้องการศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. ปัจจัยที่คัดสรรในการจำแนกกลุ่มความต้องการศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตของครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาพบว่าฟังก์ชั่นที่ 1 จำแนกกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อทันที และกลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต และ (2) กลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ ตัวแปรที่สำคัญในการจำแนกกลุ่ม ได้ดีที่สุดคือ คณะที่สำเร็จการศึกษา ความคล้อยตามบุคคลที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานต้นสังกัดสนับสนุนให้ศึกษาต่อ ส่วนฟังก์ชั่นที่ 2 จำแนกกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มครูอาจารย์ และบุคลกรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อทันที และ(2) กลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต และกลุ่มครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ ตัวแปรที่สำคัญในการจำแนกกลุ่มได้ดีที่สุดคือ รายได้ต่อเดือน อายุ ความสะดวกในการเดินทางจากที่อยู่อาศัยถึงคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความคาดหวังในการประกอบอาชีพและ ความรับผิดชอบสอนในวิชาธุรกิจศึกษาและอาชีวศึกษา โดยฟังก์ชั่นสามารถจำแนกกลุ่มครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อทันที กลุ่มที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต และกลุ่มที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ โดยรวมได้ถูกต้องร้อยละ 56.50 4. ปัจจัยที่คัดสรรในการจำแนกกลุ่มความต้องการศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตของครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาพบว่าฟังก์ชั่นที่ 1 จำแนกกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มครูอาจารย์ และ บุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อทันที และกลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต และ (2) กลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ ตัวแปรที่สำคัญในการจำแนกกลุ่มได้ดีที่สุดคือ ความคล้อยตามบุคคลที่เกี่ยวข้อง อายุ ความต้องการพัฒนาตนเองและ รายได้ ส่วนฟังก์ชั่นที่ 2 จำแนกกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อทันที และ กลุ่มครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ (2) กลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต ตัวแปรที่สำคัญในการจำแนกกลุ่มได้ดีที่สุดคือ จำนวนปีการศึกษาของบิดามารดา สถาบันการศึกษา ความคาดหวังในการประกอบอาชีพ และ ทัศนคติต่อการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยฟังก์ชั่นสามารถจำแนกกลุ่มครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อทันที กลุ่มที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต และกลุ่มที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ โดยรวมได้ถูกต้องร้อยละ 53.10