Abstract:
การส่งเสริมการกำกับการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่พรั่งพร้อมสมบูรณ์เพื่อนำไปสู่การค้นพบพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สูงสุดสำหรับเด็กวัยอนุบาลนับเป็นสิ่งสำคัญที่โรงเรียนควรคำนึงถึงเท่ากับการมีหลักสูตรที่เหมาะสมกระบวนการการเรียนรู้ที่สอดรับกับพัฒนาการตามวัยของเด็กและบริบทของท้องถิ่น การใช้แหล่งเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นและจากสภาพแวดล้อมจากธรรมชาติเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเด็กเล็กที่นับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดประสบการณ์เรียนรู้และยังนำไปสู่การรักท้องถิ่นและเห็นความสำคัญของคุณค่าของสิ่งรอบตัว ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากร ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมายที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนของเด็ก ทำให้เด็กได้สัมผัสถึงที่มาที่ไปและกระบวนการในการสรรสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดจากภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นที่ได้หล่อหลอมสั่งสมไว้ นำไปสู่การทำให้เด็กเห็นความสำคัญของกระบวนการทำงาน และคุณค่าของการสั่งสมปัญญาจากการคิดริเริ่มด้วยตนเอง และสุดท้ายก็จะนำไปสู่ความภาคภูมิใจในความคิดความสามารถของตนเอง รวมไปถึงการเป็นคุณค่าและการรู้จัก “เห็นสิ่งดี” จากสิ่งรอบตัวทั้งจากภายในห้องเรียนและภายนอกห้องเรียน ภายใต้การนำภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้บนฐานของแนวคิดตามโครงการ Project Spectrum อันเป็นโครงการที่ประยุกต์แนวทฤษฎีพหุปัญญามาใช้กับเด็กวัยอนุบาล ที่ผู้วิจัยเชื่อว่าเป็นแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความแตกต่างทางความสามารถ และวิธีการเรียนรู้เป็นรายบุคคล การใช้แหล่งเรียนรู้สามารถดำเนินการได้ 5 ด้าน คือ การกำหนดนโยบายการใช้แหล่งเรียนรู้ในหลักสูตรของโรงเรียน การออกแบบแผนการสอนให้ผู้เรียนใช้แหล่งเรียนรู้ การดำเนินการจัดแหล่งเรียนรู้ การนำเด็กไปใช้แหล่งเรียนรู้ และการประเมินผลการใช้แหล่งเรียนรู้ งานวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมโดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลทั้งแบบคุณภาพและแบบปริมาณ ด้วยวิธีการสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามแนวทางใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กจากผู้ดูแลเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรและแหล่งเรียนรู้ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตวิธีการเรียนจัดการเรียนการสอนตามแนวพหุปัญญาในโรงเรียนปลูกปัญญาที่จังหวัดนครราชสีมา