Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา ความคิดเห็นและความเหมาะสมของการบริหารจัดการสหกิจศึกษา สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์กิจกรรมสำคัญและกระบวนการบริหารจัดการสหกิจศึกษา พัฒนาระบบการบริหารจัดการสหกิจศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัย และพัฒนาคู่มือการบริหารจัดการสหกิจศึกษา สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.สภาพปัจจุบันการบริหารจัดการสหกิจศึกษา พบว่า การปฏิบัติงานต่อเนื่องกันจนครบ 4 เดือน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาคือ ปิดภาคเรียนก่อนขึ้นชั้นปีที่ 4 โดยมี การนิเทศเดือนละ 1 ครั้ง นิสิตสหกิจศึกษาทั้งหมดมีความพึงพอใจกับการปฏิบัติงานและได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานในระดับมาก ผู้นิเทศงานมีความคิดเห็นว่า ความรู้ของนิสิตที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานระดับปานกลาง นิสิตสหกิจศึกษาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานในระดับมาก และมีความประสงค์ที่จะรับนิสิตจากสาขาธุรกิจ คณะครุศาสตร์จุฬาฯ ในปีต่อไป 2.ปัญหาการบริหารจัดการสหกิจศึกษา พบว่า ด้านการเตรียมการและการวางแผนสถาบันควรประสานงานกับสถานประกอบการล่วงหน้า 1 ภาคการศึกษา การจัดปฐมนิเทศก่อนการปฏิบัติงานมีรูปแบบที่ไม่ชัดเจน ด้านสถานประกอบการ สถานประกอบการไม่มีเวลาดูแลและสอนงาน ไม่มอบหมายงาน ให้ทำงานที่ไม่เหมาะสม งานหนัก เลิกงานดึก ไม่ตรงเวลา ต้องมาทำงานวันหยุด ด้านนิสิตสหกิจศึกษา คณาจารย์นิเทศมีความคิดเห็นว่า นิสิตสหกิจศึกษา พบปัญหาแต่ไม่แจ้งคณาจารย์นิเทศทราบ จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ทัน ไม่มีความตั้งใจในการปฏิบัติงาน ส่วนสถานประกอบการมีความเห็นว่า นิสิตสหกิจศึกษามีปัญหาเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสม และไม่มีความรู้ในบางงานที่ให้ทำ 3.การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับคุณลักษณะของนิสิตสหกิจศึกษาระหว่างสภาพที่เป็นจริงกับสภาพที่คาดหวัง ตามความคิดเห็นของนิสิตสหกิจศึกษา พบว่า ด้านที่มีความต้องการจำเป็นมากที่สุดคือ ด้านความรู้ (PNI[modified = 0.08]) รองลงมาคือ ด้านทักษะ (PNI[modified = 0.06]) และด้านบุคลิกภาพ (PNI[modified = 0.05]) 4.ความเหมาะสมของคุณลักษณะของนิสิตสหกิจศึกษา พบว่า นิสิตสหกิจศึกษาและผู้นิเทศงานมีความคิดเห็นสอดคล้องกันโดยเรียงตามลำดับจากมากไปน้อยคือ ด้านบุคลิกภาพด้านทักษะ และด้านความรู้ 5.ความเหมาะสมของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน พบว่า นิสิตสหกิจศึกษาและคณาจารย์นิเทศ มีความคิดเห็นสอดคล้องกัน โดยด้านที่เหมาะสมมากที่สุดคือ ด้านการควบคุม การปฏิบัติงาน รองลงมาคือ ด้านการวางแผน ด้านการประเมินผล และด้านการจัดการตามลำดับ ขณะที่ผู้นิเทศงานของสถานประกอบการมีความเห็นว่าด้านที่เหมาะสมมากที่สุดคือ ด้านการควบคุมการปฏิบัติงาน รองลงมาคือ ด้านการจัดการ ด้านการวางแผน ด้านการประเมินผล 6.กิจกรรมสำคัญและกระบวนการบริหารจัดการสหกิจศึกษา ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การวางแผนหรือการเตรียมตัวก่อนการปฏิบัติงาน (Plan) 2) การปฏิบัติงาน (Do) 3) การติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผล (Check) การดำเนินการหลังการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (Act) 7.ระบบการบริหารจัดการสหกิจศึกษา ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ตัวป้อน (Input) กระบวนการบริหารจัดการสหกิจศึกษา (Process) ผลผลิต (Output) ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback)