Abstract:
ปัจจุบันมีสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นทั้งในสังคมโลกและสังคมไทยส่งผลทำให้การประถมศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายในการจัดการศึกษาและหลักการจัดการศึกษา งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันเพื่อกำหนดเป้าหมายการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 (2) สังเคราะห์เป้าหมายการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษา (3) สำรวจความพร้อมในการปฏิบัติการสอนและการปฏิบัติการสอนตามเป้าหมายการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษาของครูประถมศึกษา งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยแบบผสมประกอบด้วยการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพผู้วิจัยใช้การศึกษาวิเคราะห์เอกสารและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้ให้ข้อมูล คือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาประถมศึกษาและสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประถมศึกษาจำนวน 15 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์แก่นสาระ (thematic analysis) สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือครูประถมศึกษาจากโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก 77 โรงเรียนทั่วประเทศ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับครูประถมศึกษา ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย (descriptive statistics) และสถิติเชิงสรุปอ้างอิง (inferential statistics) ผลการวิจัยพบว่าเป้าหมายของการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 ประกอบด้วยเป้าหมายสำคัญ 2 ด้าน คือ เป้าหมายที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นฐานทางวิชาการและเป้าหมายที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นฐานด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สำหรับหลักการจัดการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 7 ประการ ในการศึกษาความพร้อมในการปฏิบัติการสอนและการปฏิบัติการสอนตามเป้าหมายของการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 ของครูประถมศึกษา พบว่าครูส่วนใหญ่มีความพร้อมในการปฏิบัติการสอนตามเป้าหมายของการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก และมีระดับการปฏิบัติการสอนตามเป้าหมายของการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 อยู่ในระดับบางครั้งถึงบ่อยครั้ง เมื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยความพร้อมในการปฏิบัติการสอนและการปฏิบัติการสอนตามเป้าหมายของการประถมศึกษาและหลักการจัดการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความพร้อมในการปฏิบัติการสอนและการปฏิบัติการสอนตามเป้าหมายของการประถมศึกษาสำหรับประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2015 และความสัมพันธ์ระหว่างความพร้อมในการปฏิบัติการสอนและการปฏิบัติกรสอนตามหลักการจัดการประถมศึกษาพบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05