Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นงานต่อยอดจากการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และ 2557 โดยทางชุมชน ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้มีการดำเนินการจัดการทรัพยากรป่าชุมชนบางส่วนแล้ว เช่น การจัดอบรมสร้างแนวกันไฟ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าการศึกษาเชิงลึกในทางนิเวศวิทยาและการสร้างความตระหนักให้กับชุมชนในวงกว้างและต่อเนื่องยังมีความจำเป็น โดยชุมชนเป็นผู้ที่เสนอให้มี การศึกษาต่อเนื่องและต้องการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงาน การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยปีแรกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและใช้แบบจำลองในรูปแบบบอร์ดเกม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์และประโยชน์ของป่าชุมชน และศึกษากระบวนการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากป่าไม้บางชนิดโดยชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ ที่มีฐานะของครัวเรือนที่ต่างกัน และสร้างแบบจำลองทางความคิด (conceptual model) แสดงกระบวนการตัดสินใจใช้ทรัพยากรเพื่อนำไปสร้างแบบจำลองเชิงบูรณาการในปีต่อไป ผลการศึกษาพบว่าแบบจำลองในรูปแบบบอร์ดเกมที่สร้างขึ้นไม่ยากสำหรับผู้เล่นซึ่งมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ และตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลไหล่น่าน ซึ่งช่วยทำให้ผู้เล่นเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบต่าง ๆ ในป่าชุมชนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ได้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มทำกิจกรรม และนำไปสู่การอภิปรายหาแนวทางการจัดการป่าชุมชนร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามพบว่ามีข้อเสนอแนะคือ ควรมีการทำการ์ดเกมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความสะดวกในการเล่นเกม และพบว่าผู้เข้าร่วมทุกคนต้องการเรียนรู้และเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้อีก สำหรับผลการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรของป่าที่สำคัญได้แก่ ผักหวานป่า Melientha suavis, ไข่มดแดง (queen brood of Oecophylla smaragdina) และเห็ด (edible mushrooms) พบว่าสามารถแบ่งประเภทเกษตรกรออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) คนเก็บของป่าเป็นอาชีพ ซึ่งพบน้อยในพื้นที่ศึกษา, 2) คนเก็บของป่าที่ครอบครองพื้นที่ทำการเกษตรขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทนี้, 3) คนเก็บของป่าที่ครอบครองพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทำการเกษตรไม่น้อยกว่า 5.6 เฮกแตร์ และ 4) คนเก็บของป่าที่มาจากตำบลอื่น ซึ่งเกษตรกรแต่ละกลุ่มมีกระบวนการตัดสินใจในการเก็บของป่าที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความต้องการในการบริโภค ระยะเวลาในการเก็บต่อวัน วันที่จะเริ่มเข้าไปเก็บของป่าและความยาวนานในการเก็บของป่าในรอบปี และปริมาณของป่าที่เก็บ ผลการศึกษาที่ได้จะนำไปสร้างเกมและสถานการณ์จำลองที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและใช้ร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่อไปตามข้อเสนอของชาวบ้าน