Abstract:
แย้ หรือ Butterfly lizard เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ ปัจจุบันการล่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ประชากรแย้ในธรรมชาติมีจำนวนลดลง จึงได้มีการนำแย้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หนึ่งในพื้นที่ๆ มีการนำแย้มาปล่อยเพื่อเพิ่มจำนวนในธรรมชาติคือ เกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธกรรมพืข อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแย้ที่นำมาปล่อยเป็นหนึ่งในสี่สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยคือ ชนิด Leiolepis belliana หรือ แย้ผีเสื้อ (Common butterfly lizard) การติดตามประชากรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ และประชากรที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการอนุรักษ์ การศึกษาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ และติดตามศึกษาประชากรของแย้บนเกาะแสมสาร โดยทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างจากสามพื้นที่บนเกาะแสมสาร ได้แก่ บริเวณหาดเทียน หาดหน้าบ้าน และหาดลูกลม โดยการใช้บ่วงดักที่บริเวณปากรู ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างทุก ๆ 2 เดือน (ตามตารางสำรวจย่อย) นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 (รวม Preliminary survey) ได้ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างไปทั้งสิ้น 13 ครั้ง ทำการวัดและบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น เพศ น้ำหนักตัว และความยาวลำตัว (Snout-Vent Length หรือ SVL) เป็นต้น ในกรณีแย้ที่จับได้เป็นตัวอย่างใหม่ และไม่เคยมีการทำเครื่องหมายมาก่อน จะทำการติดตั้ง PIT (Passive Integrated Transponder) tag โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรในอนาคต ปัจจุบัน ได้ทำการติดตั้ง PIT tag และ Assign หมายเลขประจำตัวให้แย้บนเกาะแสมสารไปทั้งหมด123 ตัว และเมื่อนำข้อมูลจำนวนตัวมาคำนวณพบว่า มีประชากรแย้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ บนเกาะแสมสาร ประมาณ 438 ตัว การวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนักที่จับได้ซ้ำในแต่ละเดือนพบว่า แย้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและลดลงตามฤดูกาล คาดว่าเป็นผลจากปริมาณอาหารที่ลดลง และช่วงฤดูสืบพันธุ์ จำนวนแย้ที่พบและจับได้มีความแปรผันตลอดระยะเวลาที่ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่าง คาดว่าแย้ได้ย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ดังนั้น ควรมีการสำรวจระยะยาวและเก็บตัวอย่างเพิ่มในบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณที่ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างเป็นประจำเพื่อติดตามประชากรต่อไป