Abstract:
ป้ายจราจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นระบบที่นำมาใช้ในการให้ข้อมูลข่าวสารจราจรต่างๆ และแนะนำการเลี่ยงเส้นทางที่มีการจราจรคับคั่ง แม้ว่าระบบป้ายดังกล่าวได้รับการติดตั้งเป็นระยะเวลาหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว แต่จากอดีตที่ผ่านมายังไม่มีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ระบบแผ่นจราจรอิเล็กทรอนิกส์ในมุมมองของผู้ขับขี่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและจัดเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ประเมินถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากระบบได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงข้อความที่แสดงบนแผ่นจราจรอิเล็กทรอนิกส์โดยมุ่งเน้นรายละเอียดของข้อความที่แสดงบนแผ่นป้ายจราจรอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจของผู้ขับขี่อย่างไร ผลจากการศึกษาพบว่า ผู้ขับขี่ในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่สังเกตเห็นแผ่นจราจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นประจำร้อยละ 68.5 แต่มีผู้ขับขี่เพียง 1 ใน 5 ที่ใช้ป้ายดังกล่าวเป็นแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง และพบว่าผู้ขับขี่จะตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางสูงสุด เมื่อได้รับข่าวสารจากจราจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งแสดงข้อมูลอันประกอบด้วยทิศทางการจราจร สาเหตุของปัญหา และเส้นทางแนะนำ นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ทางสถิติจากข้อมูลประเภท Stated Preference ด้วยแบบจำลองแบบ logit พบว่านอกเหนือจากข้อมูลที่แสดงบนป้ายจราจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเส้นทางแล้ว ตัวแปรอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจประกอบด้วย ความคุ้นเคยเส้นทาง เพศ อาชีพ ระยะทางการเดินทางโดยเฉลี่ยใน 1 วัน ความคุ้นเคยกับป้ายจราจรอิเล็กทรอนิกส์และวัตถุประสงค์การเดินทาง อย่างไรก็ดี อุปสรรคหลักต่อการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางของผู้ขับขี่ได้แก่ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่แสดงบนแผ่นป้าย ซึ่งในปัจจุบันผู้ขับขี่เห็นว่ายังไม่น่าเชื่อถือมากนัก