Abstract:
กบทูด Limnonectes blythii เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบอกที่มีขนาดใหญ่และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง ตามลำห้วยป่าดิบเฉพาะแห่ง โดยในประเทศไทยมีรายงานการสำรวจพบกบทูดทางฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ มีรายงานการพบประชากรกบทูดธรรมชาติในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมากจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ได้รับการฟื้นฟูจนมีสภาพระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะเป็นแหล่งศึกษาชีววิทยาของกบชนิดนี้ จากการสำรวจภาคสนามด้วยวิธี visual encounter survey ในฤดูแล้วหนาว (เดือนมกราคม) ฤดูแล้งร้อน (เดือนเมษายน) และฤดูฝน (เดือนสิงหาคม) ปี พ.ศ. 2560 พบกบทูดเพศผู้ 7 ตัว เพศเมีย 4 ตัว และกบทูดก่อนวัยเจริญพันธุ์ 3 ตัว รวมทั้งหมด 14 ตัว ทั้งหมดมีลักษณะภายนอกที่สมบูรณ์ โดยเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวและความยาวจากปลายจมูกถึงรูทวาร เท่ากับ 299 ±105 กรัม และ 141.30 ±14.83 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในขณะที่เพศเมียมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวและความยาวจากปลายจมูกถึงรูทวาร เท่ากับ 208 ±27 กรัม และ 129.60 ±10.27 มิลลิเมตร ตามลำดับ จากการศึกษาทางโลหิตวิทยา กบทูดเพศผู้มีค่าเฉลี่ยเซลล์เม็ดเลือดอัดแน่น เท่ากับ 27.07 ±7.01% สูงกว่าเพศเมีย ซึ่งมีค่าเท่ากับ 19.50±10.12% กบทูดทั้งเพศผู้ เพศเมีย และ juvenile มีลักษณะสัณฐานวิทยาของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ไม่แตกต่างกัน โดยสามารถจำแนกเซลล์เม็ดเลือดออกเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง ทรอมโบไซต์ และเซลล์เม็ดเลือดขาว 5 ชนิด ได้แก่ โมโนไซต์, ลิมโฟไซต์, นิวโทรฟิล, อิโอสิโนฟิล และเบโซฟิล ลักษณะสัณฐานเซลล์เม็ดเลือดของกบทูดมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่เคยมีรายงานในกบชนิดอื่น โดยไม่พบลักษณะเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติ ข้อมูลทางสัณฐานวิทยา และโลหิตวิทยาของกบทูดที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยา และสุขภาวะของกบชนิดนี้ในธรรมชาติ เพื่อการวางแผนอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต