Abstract:
การใช้อนุภาคเงินขนาดนาโนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันอาจนำไปสู่ปัญหาการปนเปื้อนของอนุภาคนี้ลงสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่ได้รับการปนเปื้อน ถึงแม้ว่าคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียของอนุภาคนี้จะเป็นที่ทราบกันดี ผลกระทบของอนุภาคเงินขนาดนาโนต่อจุลชีพกลุ่มยูแคริโอตเซลล์เดียวกลับพบมีรายงานไม่มากนัก การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเป็นพิษของอนุภาคเงินขนาดนาโนในรูปของสารคอลลอยด์อนุภาคนาโนของโลหะเงินต่อซิลิเอต 3 ชนิด ได้แก่ Bresslauides sp., Paramecium sp. และ Telotrochidium sp. โดยพิจารณาผลของอนุภาคดังกล่าวจากค่าความเข้มข้นที่ทำให้ซิลิเอตตายไปครึ่งหนึ่ง ร่วมกับการตอบสนองของเซลล์ทางสัณฐานวิทยา อัตราการเจริญเติบโต และเวลาที่ใช้ในแต่ละชั่วรุ่นของซิลิเอตเมื่อได้รับสาร จากการทดลองพบว่า Paramecium sp. มีความไวต่อสารคอลลอยด์อนุภาคนาโนของโลหะเงินมากที่สุด รองลงมาคือ Bresslauides sp. และ Telotrochidium sp. ตามลำดับ โดยมีค่า LC50 หลังจากได้รับสารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เท่ากับ 0.753, 0.978 และ 1.741 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ โดยซิลิเอตที่ได้รับสารจะมีการเคลื่อนที่ช้าลง ภายในเซลล์เกิดแวคิวโอล ผิวเซลล์เกิดเม็ดพุพอง เซลล์เสียรูปร่าง และแตกสลายในที่สุด นอกจากนี้อนุภาคดังกล่าวยังมีผลลดอัตราการเจริญเติบโต และส่งผลเพิ่มเวลาที่ใช้ในแต่ละชั่วรุ่นของซิลิเอตทั้ง 3 ชนิดขึ้นอีกเท่าตัว ความไวของ Paramecium sp. ต่อสารแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้ซิลิเอตสายพันธุ์นี้เป็นดัชนีชี้วัดทางชีวภาพของแหล่งน้ำที่อาจพบมีการปนเปื้อนของอนุภาคเงินขนาดนาโนได้ต่อไป