Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่นำจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ในพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืชวังเขมรมาทำการทดลองผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลจากแฝกโดยนำตัวอย่างแฝกมาปรับสภาพด้วยวิธีทางกายภาพจนได้เป็นผง จากนั้นทำการทดลองวิเคราะห์หาปริมาณความชื้น พบว่า แฝกสายพันธุ์สงขลา 3 มีปริมาณความชื้นน้อยที่สุด คือ 60.86 ± 1.89 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมาหาปริมาณองค์ประกอบของชีวมวลพืช พบว่า แฝกสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีปริมาณเฮมิเซลลูโลสสูงที่สุด คือ 39.02 ± 0.89 % แฝกสายพันธุ์ศรีลังกามีปริมาณเซลลูโลส 37.54±0.45 % จากนั้นนำปริมาณของเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสมาคำนวณหาปริมาณน้ำตาลกลูโคสและไซโลส จากนั้นคำนวณเป็นปริมาณเอทานอลที่ได้ตามทฤษฎี พบว่าแฝกศรีลังกามีค่าเอทานอลที่ได้ตามทฤษฎีสูงกว่าแฝกกำแพงเพชร 2 จากนั้นนำเชื้อรา T. reesei มาผลิตเอนไซม์เซลลูเลสซึ่งมีแหล่งคาร์บอนเป็นแอลฟาเซลลูโลส และไซแลเนสซึ่งมีแหล่งคาร์บอนเป็น birchwoodxylan แล้ววัดค่าแอกทิวิตี พบว่า เซลลูเลสมีค่าแอกทิวิตีเป็น 1.190 ยูนิต/มิลลิลิตร และมีค่าแอกทิวิตีจำเพาะเป็น 1.071 ยูนิต/มิลลิกรัมโปรตีน ส่วนไซแลเนสมีค่าแอกทิวิตีเป็น 86.961 ยูนิต/มิลลิลิตร และมีค่าแอกทิวิตีจำเพาะเป็น 56.866 ยูนิต/มิลลิกรัมโปรตีน และจะนำเซลลูเลส ไซแลเนสไปย่อยสลายแฝกต่อไป จากผลการย่อยสลายด้วยเอนไซม์ แฝกศรีลังกายังมีความสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้เปอร์เซ็นต์สูงกว่าแฝกกำแพงเพชร 2 คือ แฝกศรีลังกา 81.63 เปอร์เซ็นต์ และแฝกกำแพงเพชร 2 78.67 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นแฝกกำแพงเพชร 2 จึงไม่เหมาะสมต่อการขยายเสกลในการศึกษาขั้นตอนของการหมัก ในการทดลองจึงเลือกแฝกศรีลังกาไปทำการศึกษาในขั้นตอนของการหมักต่อไป