Abstract:
“ฟังก์ชันของพฤติกรรม (Functions of Behavior)” หมายถึง เป้าประสงค์ที่อธิบายสาเหตุเบื้องหลังการเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของผู้เรียน FBA จึงเป็นการประเมินพฤติกรรมโดยวิเคราะห์และระบุปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา กระบวนการช่วยเหลือทางพฤติกรรมจึงนำข้อมูลจาก FBA มาใช้ในการออกแบบแผนที่มีการกำหนดกลยุทธ์การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นปัญหา สร้างสอนและส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ แผนการช่วยเหลือดังกล่าวมีการปรับให้สอดคล้องกับฟังก์ชันบนพื้นฐานการตัดสินใจของทีมผู้เกี่ยวข้องและเรียกว่า “การช่วยเหลือโดยอิงฟังก์ชัน (Function-based Intervention, FBI)” งานวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาเชิงลึกถึงกระบวนการนำการช่วยเหลือตามแนวทาง FBA และ FBI สู่การปฏิบัติในโรงเรียนเรียนรวม วัตถุประสงค์ของการวิจัยมี 4 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อออกแบบแผนการช่วยเหลือทางการเรียนและพฤติกรรมสำหรับผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยง และวิเคราะห์ความเหมาะสมของการนำกระบวนการไปปฏิบัติในโรงเรียนเรียนรวมในประเทศไทย 2) เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลของการนำกระบวนการช่วยเหลือฯ ไปใช้ลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยง 3) เพื่อวิเคราะห์และประเมินความคงทนของการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการช่วยเหลือฯ และ 4) เพื่อศึกษาระดับการยอมรับการช่วยเหลือฯ ของทีมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นของเป้าหมาย กระบวนการ และผลที่เกิดขึ้น งานวิจัยครั้งนี้ใช้แบบแผนการวิจัยที่เรียกว่า combined single-subject design กรณีศึกษาเป็นผู้เรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนต้นแบบการเรียนรวม และเป็นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทั้งทางด้านการเรียนวิชาการและพฤติกรรมจำนวน 3 คน มีการเก็บข้อมูลโดยใช้การสังเกตพฤติกรรมและวิเคราะห์กราฟร่วมกับค่าเฉลี่ยและช่วงการกระจายตัวของข้อมูล ข้อมูลระดับการยอมรับของทีมเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและวิเคราะห์ด้วยค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลการสัมภาษณ์สมาชิกในทีมเกี่ยวกับการยอมรับแผนการช่วยเหลือใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) การช่วยเหลือฯ มีการดำเนินงาน 2 ส่วน ได้แก่ 1) กระบวนการ FBA และ 2) กระบวนการ FBI พบว่าการตัดสินใจปรับกลยุทธ์การช่วยเหลือให้สอดคล้องกับฟังก์ชันของพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครูไทยและครูมีข้อจำกัดทำให้นำกระบวนการไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ยากหากขาดทักษะการจัดการพฤติกรรมหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก 2) ผลการนำกระบวนการช่วยเหลือฯ ไปใช้พบว่าผู้เรียนมีแนวโน้มลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น โดยการช่วยเหลือผู้เรียนที่มีฟังก์ชันของพฤติกรรมคือการเรียกร้องความสนใจเห็นผลชัดเจนที่สุด 3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนทั้งพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและพฤติกรรมที่พึงประสงค์มีแนวโน้มที่ค่อนข้างคงทน และ 4) ผู้เกี่ยวข้องยอมรับการช่วยเหลือฯ ในระดับมาก ทั้งด้านเป้าหมาย กระบวนการดำเนินงาน และผลที่เกิดกับผู้เรียนโดยเฉพาะการยอมรับการช่วยเหลือผู้เรียนที่มีฟังก์ชันของพฤติกรรมคือการเรียกร้องความสนใจ