Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบการนำไปใช้ของอนุภาคไคโตซานระดับนาโนที่ถูกดัดแปลงให้มีคุณสมบัติเป็นตัวนำส่งยีนเหนี่ยวนำการตายแบบอะพอพโทซิสเข้าสู่เซลล์อัณฑะที่มีตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิ่ง โดยการออกแบบตัวนำส่งยีนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำหมันสัตว์เพศผู้แบบไม่ผ่าตัด การศึกษานี้ได้มีการรายงานผลของอนุภาคไคโตซานระดับนาโนเชื่อมติดกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิ่ง (Gonadotropin Releasing Hormone-modified Chitosan; GnRH-CS) เพื่อนำส่งยีนอย่างมีเป้าหมาย และการใช้เปปไทด์โกนาโดโทรปินรีลิสซิ่งในการระบุเป้าหมายการนำส่งยีนไปสู่เซลล์ที่มีตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิ่ง (GnRH receptor; GnRHR) จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ (In vitro study) พบว่าอนุภาค GnRH-CS สามารถนำส่งยีนรายงานผล (Green Fluorescent Protein; GFP และ Luciferase; LUC) ไปสู่เซลล์เพาะเลี้ยงจากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์ (Human Embryonic Kidney cell line) ที่มีการดัดแปลงให้มี GnRHR เพื่อใช้เป็นเซลล์จำลองที่มีการแสดง GnRHR และเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้จากหนูเมาส์ (Spermatogonia cells; GC-1 cell) ได้อย่างจำเพาะ สำหรับการศึกษาภายในร่างกายสัตว์ (In vivo study) ได้มีการใช้ยีน Tumor Necrosis Factor alpha (TNF-alpha) เพื่อเหนี่ยวนำการตายในเซลล์อัณฑะของหนูแรท โดยการฉีดสารเข้าอัณฑะโดยตรง (Intra-testicular injection) ผลการศึกษาพบว่ามีการตายของเซลล์อัณฑะ (จากการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา และการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวน์) มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของขนาดอัณฑะ (จากการตรวจทางกายภาพ การวัดด้วยคาลิปเปอร์แบบดิจิตอล และเครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิตอล) ไม่พบผลข้างเคียงหลังการฉีด และพบว่ายังมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือดคงที่ (จากการตรวจด้วยหลักการ chemiluminescent microparticle immunoassay; CMIA) สรุปได้ว่างานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำหมันสัตว์เพศผู้แบบไม่ผ่าตัด พบว่าวิธีนี้ช่วยลดการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดด้วยสารทำหมันอื่นที่มีรายงานก่อนหน้า