Abstract:
การศึกษาความสัมพันธ์เชิงทำนายเพื่อศึกษาอำนาจการทำนายความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก ตีบตัน ครั้งแรก/เป็นซ้ำ ทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 114 ราย ที่มารับการตรวจติดตามการรักษา ณ แผนกผู้ป่วยนอกหน่วยตรวจโรคประสาทศัลยศาสตร์และอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลตำรวจ และสถาบันประสาทวิทยา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความต้องการการดูแลแบบสนับสนุน แบบประเมินภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล แบบประเมินโรคร่วม แบบประเมินความเหนื่อยล้า และแบบประเมินระดับความพิการ แบบสอบถามหาค่าความตรงเชิงเนื้อหาได้เท่ากับ .88,1, .99 และ 1 ตามลำดับ ส่วนแบบประเมินระดับความพิการซึ่งเป็นแบบประเมินมาตรฐาน มีการนำมาใช้ในการวิจัยอย่างแพร่หลายดังนั้นผู้วิจัยจึงไม่ทำการทดสอบซ้ำ และได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .87, .88, .89, .97 และ .78 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย และวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบเป็นขั้นตอน ผลการศึกษา พบว่า
1. ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง มีความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 86.40 (SD = 21.56)
2. ปัจจัยที่สามารถทำนาย ความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองได้สูงสุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ระดับความพิการ (beta = .447) รองลงมา คือ ภาวะโรคร่วม (beta = .310) ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล (beta = .251) และ ความเหนื่อยล้า (beta = .155) ตามลำดับ โดยตัวแปรทำนายทั้ง 4 ตัวแปร สามารถทำนายความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้ร้อยละ 78.1 (Adjusted R2 = .781, F = 187.420, p<. 05) อย่ำงมีนัยสำคัญทำงสถิติที่ระดับ .05