Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาความเครียดจากการทำงานและภาวะสุขภาพจิตของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางในองค์การ กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง จำนวน 329 คน คัดเลือกโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2566 โดยการใช้แบบประเมินความเครียดจากการทำงาน (Thai JCQ-45) และแบบประเมินภาวะสุขภาพจิต (Thai GHQ-12) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ระหว่างสองตัวแปรและวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบโลจิสติก ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีความเครียดจากการทำงานสูง ร้อยละ 30.4 และมีความเสี่ยงในการมีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 19.5 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่ เพศหญิง (aOR= 2.37, 95%CI: 1.17-4.80) การทำอาชีพเสริม (aOR= 4.04, 95%CI: 1.03-15.80) ผู้ที่มีการเรียกร้องจากงานด้านกายภาพสูง (aOR= 7.49, 95%CI: 3.98-14.10) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่ การออกกำลังกาย (aOR= 0.35, 95%CI: 0.12-0.98) ความมั่นคงของงานสูง (aOR= 0.27, 95%CI: 0.08-0.97) และการสนับสนุนทั้งสังคมสูง (aOR= 0.09, 95%CI: 0.03-0.32) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับความเสี่ยงในการมีปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ชั่วโมงการทำงาน (aOR= 2.08, 95%CI: 1.06-4.07 ) อันตรายในงานสูง (aOR=, 95%CI: 1.90-7.66) และผู้ที่มีความเครียดจากการทำงานสูงมีความเสี่ยงในการมีปัญหาสุขภาพจิตเป็น 1.77 เท่า (95%CI: 1.01-3.11) ดังนั้นหน่วยงานควรส่งเสริมมาตรการในการป้องกันความเครียดจากการทำงานและปัญหาสุขภาพจิต